Main navigation

ข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์และบรรพชิต

เหตุการณ์
อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วถามว่า บรรชิตและอุบาสกผู้ครองเรือนกระทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ

ปฏิปทาของบรรพชิต

เราจะยังเธอทั้งหลายให้ฟังธรรมอันกำจัดกิเลส และเธอทั้งปวงจงประพฤติธรรมอันกำจัดกิเลสนั้น ภิกษุผู้มีปัญญาความคิด ผู้เห็นประโยชน์ พึงเสพอิริยาบถอันสมควรแก่บรรพชิต

-  ภิกษุไม่พึงเที่ยวไปในเวลาวิกาล อนึ่งภิกษุพึงเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในบ้านในกาล ด้วยว่าธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งหลายย่อมข้องภิกษุผู้เที่ยวไปในกาลอันไม่สมควรไว้ เพราะเหตุนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมไม่เที่ยวไปในเวลาวิกาล

- รูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ ย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้มัวเมา ภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้วซึ่งความพอใจในธรรมเหล่านี้ พึงเข้าไปยังโอกาสที่จะพึงบริโภคอาหารในเวลาเช้าโดยกาล

- ภิกษุได้บิณฑบาตแล้ว พึงกลับไปนั่งในที่สงัดแต่ผู้เดียว ภิกษุผู้สงเคราะห์อัตภาพแล้ว คิดถึงขันธสันดานในภายใน ไม่พึงส่งใจไปในภายนอก

- ถ้าภิกษุนั้นเจรจากับสาวกอื่น หรือกับภิกษุรูปไรๆ ภิกษุนั้นพึงกล่าวธรรมอันประณีต ไม่พึงกล่าวคำส่อเสียด ทั้งไม่พึงกล่าวคำติเตียนผู้อื่น ก็บุคคลบางพวกย่อมประถ้อยคำกัน เราย่อมไม่สรรเสริญบุคคลเหล่านั้นผู้มีปัญญาน้อย ความเกี่ยวข้องด้วยการวิวาท เกิดจากคลองแห่งคำนั้นๆ ย่อมข้องบุคคลเหล่านั้นไว้ เพราะบุคคลเหล่านั้นส่งจิตไปในที่ไกลจากสมถะและวิปัสสนา

- สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรมที่พระสุคต ทรงแสดงแล้ว พิจารณาบิณฑบาต ที่อยู่ ที่นอน ที่นั่ง น้ำ และการซักมลทินผ้าสังฆาฏิแล้วพึงเสพ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุไม่ติดแล้วในธรรมเหล่านี้ คือ บิณฑบาต ที่นอน
ที่นั่ง น้ำ และการซักมลทินผ้าสังฆาฏิ เหมือนหยาดน้ำไม่ติดในใบบัว 

วัตรแห่งคฤหัสถ์

สาวกกระทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ

- วางอาชญาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า ทั้งผู้ที่มั่นคงทั้งผู้ที่ยังสะดุ้งในโลกแล้ว ไม่พึงฆ่าสัตว์เอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นฆ่า
- สาวกรู้อยู่ พึงเว้นสิ่งที่เขาไม่ให้ ในที่ไหนๆ ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นลัก พึงเว้นวัตถุที่เจ้าของเขาไม่ให้ทั้งหมด
- สาวกผู้รู้แจ้งพึงเว้นอพรหมจรรย์ แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ก็ไม่พึงก้าวล่วงภรรยาของผู้อื่น
-  ไม่พึงกล่าวเท็จแก่บุคคลผู้หนึ่ง ไม่พึงให้ผู้อื่นกล่าวคำเท็จ ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นกล่าวเท็จ พึงเว้นคำไม่เป็นจริงทั้งหมด
-  ไม่พึงดื่มน้ำเมา ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นดื่ม ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นดื่ม เพราะทราบชัดการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าเป็นที่สุด คนพาลทั้งหลายย่อมกระทำบาปเอง และใช้คนอื่นผู้ประมาทแล้วให้กระทำบาป เพราะความเมานั่นเอง สาวกพึงเว้นความเป็นบ้า ความหลงที่คนพาลใคร่แล้ว อันเป็นบ่อเกิดแห่งบาปนี้

อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้ว

๑. ไม่พึงฆ่าสัตว์
๒. ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้
๓. ไม่พึงพูดมุสา
๔. ไม่พึงดื่มน้ำเมา
๕. พึงเว้นจากเมถุนธรรมอันเป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ
๖. ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรี
๗. ไม่พึงทัดทรงดอกไม้และไม่พึงลูบไล้ของหอม
๘. พึงนอนบนเตียงหรือบนพื้นดินที่เขาลาดแล้ว

สาวกผู้มีใจเลื่อมใส พึงเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการให้บริบูรณ์ดี ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักข์ และตลอดปาฏิหาริกปักข์

สาวกผู้รู้แจ้งเข้าจำอุโบสถอยู่แต่เช้าแล้ว

- มีจิตเลื่อมใส ชื่นชมอยู่เนืองๆ
- แจกจ่ายภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวและน้ำตามควร
- เลี้ยงมารดาและบิดาด้วยโภคสมบัติที่ได้มาโดยชอบธรรม
- ประกอบการค้าขายอันชอบธรรม

ไม่ประมาท ประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่ ย่อมเข้าถึงเหล่าเทวดาชื่อว่าสยัมปภา ผู้มีรัศมีในตน

อ่าน ธรรมิกสูตร

อ้างอิง
ธรรมิกสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๓๒-๓๓๓ หน้า ๓๐๓-๓๐๗
ลำดับที่
27

สถานที่

วิหารเชตวัน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม