Main navigation

ธรรมเป็นเครื่องอยู่

เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระเจ้ามหานามศากยะ เรื่อง ควรจะอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ใดเมื่อพระพุทธองค์เสด็จจาริกไป

ธรรม ๕ ประการ ที่ทรงให้พระมหานามะตั้งอยู่

- ผู้มีศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธาย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
- ผู้ปรารภความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
- ผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
- ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ 
- ผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์

เมื่อพระมหานามะทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว ให้ทรงเจริญธรรม ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ

เจริญพุทธานุสสติ - ระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกบุรุษ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

เจริญธรรมานุสสติ - ระลึกถึงพระธรรมว่าพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

เจริญสังฆานุสสติ -  ระลึกถึงพระสงฆ์ว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

เจริญสีลานุสสติ - ระลึกถึงศีลของตนว่าไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ

เจริญจาคานุสสติ - ระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีแล้วในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน ในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทิน คือความตระหนี่กลุ้มรุม

เจริญเทวตานุสสติ - ระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตนิมมานรดี ปรนิมมิตสวัสดี พรหมกายมีอยู่ เทวดาชั้นที่สูงขึ้น ไปกว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะและปัญญา จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา เช่นนั้นอยู่  อริยสาวกระลึกถึงศรัทธาศีล สุตะ จาคะและปัญญาของตนและของเทวดาเหล่านั้น

จิตของอริยสาวกผู้เจริญธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ย่อมได้ความรู้อรรถ ความรู้ธรรม ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่ผู้มีความปราโมทย์ กายของผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบ ผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น เป็นผู้ถึงความสงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม

 

อ่านพระสูตรเต็ม มหานามสูตรที่ ๑

 

อ้างอิง
มหานามสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๒๑๘ หน้า ๓๐๔-๓๐๗
ลำดับที่
31

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม