Main navigation

หายป่วยด้วยสัญญา ๑๐

เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ท่านพระคิริมานนท์เป็นไข้หนัก พระพุทธเจ้าตรัสกับแก่พระอานนท์ให้กล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่พระคิริมานนท์ ความเจ็บจะสงบระงับ พึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

เมื่อพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการ แล้วเข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่ และได้กล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่ท่านพระคิริมานนท์ อาพาธของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐

สัญญา ๑๐ ประการ ได้แก่ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑

อนิจจสัญญา - ความไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕

ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ด้วยประการอย่างนี้

อนัตตสัญญา - ความเป็นอนัตตาในอายตนะภายในและภายนอก ๖ ประการ

ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าจักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา

ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการ

อสุภสัญญา - ความเป็นของไม่งาม

ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้

อาทีนวสัญญา - ความเป็นโทษในกาย

ย่อมพิจารณาเห็นว่ากายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น ฯลฯ อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ

ปหานสัญญา - การละอกุศลธรรม

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย

วิราคสัญญา -  ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส

ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง  ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

นิโรธสัญญา - ธรรมเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือ

ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

สัพพโลเกอนภิรตสัญญา - ละอุบายและอุปาทาน ไม่ถือมั่น

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบายและอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น

สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา - ความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังสังขารทั้งปวง

อานาปานัสสติ

นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น 
เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง หายใจออก จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง หายใจเข้า
จักระงับกายสังขาร (ลมหายใจ) หายใจออก จักระงับกายสังขาร หายใจเข้า

จักกำหนดรู้ปีติ หายใจออก จักกำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า
จักกำหนดรู้สุข หายใจออก จักกำหนดรู้สุข หายใจเข้า
จักกำหนดรู้จิตตสังขาร (เวทนา) หายใจออก จักกำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า
จักระงับจิตตสังขาร หายใจออก จักระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า

จักกำหนดรู้จิต หายใจออก จักกำหนดรู้จิต หายใจเข้า
จักยังจิตให้บันเทิง หายใจออก จักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า
จักตั้งจิตให้มั่น หายใจออก จักตั้งจิตให้มั่น หายใจเข้า
จักเปลื้องจิต หายใจออก จักเปลื้องจิต หายใจเข้า

จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า

จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า

จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจเข้า

จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืน หายใจออก จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืนหายใจเข้า

 

 

อ่าน อาพาธสูตร

อ้างอิง
อาพาธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๖๐ หน้า ๙๙-๑๐๒
ชุดที่
ลำดับที่
14

สถานที่

วิหารเชตวัน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม