Main navigation

อปัณณกสูตร

ว่าด้วย
การปฏิบัติไม่ผิด
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาว่าเมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาที่ชอบใจ พึงสมาทานอปัณณกธรรมเหล่านี้แล้วประพฤติตาม ด้วยว่าอปัณณกธรรมเหล่านี้เมื่อสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อจบเทศนา พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาได้แสดงตนเป็นอุบาสก ผู้ถึงไตรสรณะตลอดชีวิต

อปัณณกรรมที่ไม่ควรสมาทาน

1.  ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวง  การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี ทำชั่วไม่มี ไม่มีโลกนี้ โลกหน้า ไม่มีมารดา บิดา ไม่มีสมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้รู้ทั่วในโลก

2. ความเห็นที่ว่า การกระทำอันเป็นบาป ที่บุคคลกระทำด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำ เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ย่อมไม่มีผลแห่งบาปนั้น และการกระทำอันเป็นบุญ เช่น การให้ทาน ความสำรวม การกล่าวคำสัตย์ ย่อมไม่มีผลแห่งบุญนั้นเช่นกัน

3.  ความเห็นว่า ไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมอง หรือบริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเศร้าหมอง หรือบริสุทธิ์ได้เอง

4.  ความเห็นว่า ไม่มีอรูปพรหม

5.  ความเห็นว่า ไม่มีความดับสนิทแห่งภพ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความกำหนัดและ ความถือมั่น 

ผู้ที่สมาทานอปัณณกธรรมที่ไม่ดีนี้จะเว้นจากกุศลกรรม  ๓ ประการ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เพราะไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะเป็นคุณฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม

จะสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อกุศลธรรมเป็นอันมาก มีมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ และมิจฉาวาจา เป็นผู้ไม่มีศีล เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ ย่อมมี เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย

บุคคลผู้มีความเห็นนี้ ย่อมปราชัยในโลกทั้งสอง คือ ได้รับการติเตียนในโลกนี้ และเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก 
 
อปัณณกธรรมที่ควรสมาทาน
 
1.  ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การบวงสรวง การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี ทำชั่วมีอยู่ มีโลกนี้ โลกหน้า มีมารดา บิดา มีสมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้ และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้รู้ทั่วในโลก

2.  ความเห็นว่า การกระทำอันเป็นบาป ที่บุคคลกระทำด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำ เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ย่อมมีผลแห่งบาปนั้น และการกระทำอันเป็นบุญ เช่น การให้ทาน ความสำรวม การกล่าวคำสัตย์ ย่อมมีผลแห่งบุญนั้นเช่นกัน

3.  ความเห็นว่า มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมอง หรือบริสุทธิ์

4.  ความเห็นว่า มีอรูปพรหม ดังนั้นย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่ง รูป

5.  ความเห็นว่า มีความดับสนิทแห่งภพ ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อราคะ และความถือมั่น ดังนั้นย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งภพ 

ผู้ที่สมาทานอปัณณกธรรมที่ดีนี้ จะเว้นจากอกุศลธรรม ๓ ประการ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เพราะท่านเหล่านั้นเห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง แห่งอกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม

จะสมาทานกุศลกรรม  ๓ ประการ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต กุศลธรรมเป็นอันมาก มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ และสัมมาวาจา  เป็นผู้มีศีล ไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยะ ย่อมมี เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย

บุคคลผู้มีความเห็นนี้ย่อมมีชัยในโลกทั้งสอง คือ ได้รับการสรรเสริญในโลกนี้ และเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์
 
บุคคล ๔ จำพวก คือ
 
บุคคลผู้ทำตนเองให้เดือดร้อน และขวนขวายในการทำให้ตนเองเดือดร้อน 

เช่น  ผู้ที่ทรมานร่างกายตนเองด้วยการกินอาหารน้อย นอนบนหนาม เป็นต้น

บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และขวนขวายในการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

เช่น ผู้ที่เลี้ยงชีวิต ด้วยการฆ่าสัตว์ทั้งหลาย เป็นโจร ทำการงานที่ทารุณ เป็นต้น
 
บุคคลผู้ทำตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน และขวนขวายในการทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

เช่น ผู้ทำการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์ทั้งหลาย ทรมานกรรมกรให้เกิดความทุกข์ ส่วนตนเองนอนบนพื้นที่ไม่ได้ปูด้วยเครื่องลาด และยังอัตภาพด้วยน้ำนมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นต้น

บุคคลผู้ไม่ทำตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน และไม่ขวนขวายในการทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน 

บุคคลผู้ไม่ทำตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน และไม่ขวนขวายในการทำตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระตถาคต และภิกษุผู้ประกอบด้วย ศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติและสัมปชัญญะ ละนิวรณ์ ทั้ง ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจ บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน บรรลุวิชชา ๓ คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกถึงชาติได้ จุตูปปาตญาณ รู้กฎแห่งกรรมของหมู่สัตว์ได้ และอาสวักขยญาณ เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
 



อ่าน อปัณณกสูตร

อ้างอิง
อปัณณกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๐๓-๑๒๔ หน้า ๘๐-๑๐๒
ชุดที่
ลำดับที่
2

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม