Main navigation

เกสปุตตสูตร

ว่าด้วย
มิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง
เหตุการณ์
ชนกาลมโคตรถามพระพุทธเจ้าว่า พราหมณ์แต่ละพวกที่มายังเกสปุตตนิคมต่างก็ประกาศคำสอนของตน ส่วนวาทะของผู้อื่นก็ช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ จึงสงสัยว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าใครพูดจริง พูดเท็จ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบ ชาวกาลามโคตรประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าตรัสแก่ชาวกาลามโคตรว่า 

๑.  อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
๒.  อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา
๓.  อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้
๔.  อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา
๕.  อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง
๖.  อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน
๗. อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ
๘.  อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว
๙.  อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
๑๐. อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

ทรงให้รู้ด้วยตนเองว่า ธรรมใดเป็นอกุศล ธรรมใดมีโทษ ธรรมใดผู้รู้ติเตียน ธรรมใดใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ควรละธรรมเหล่านั้นเสีย 

แล้วทรงถามชาวกาลามโคตรว่า

ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ 

ทรงตรัสต่อไปว่า

บุคคลผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลง ถูกความโกรธ ความโลภ ความหลง ครอบงำ มีจิตอันความโลภ ความโกรธ ความหลง กลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้

สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลง ย่อมชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

แล้วทรงให้ชาวกาลมโคตร ตอบด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ติเตียน ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ 

แล้วทรงตรัสต่อไปว่า

บุคคลผู้ไม่โลภ ผู้ไม่โกรธ ผู้ไม่หลง ไม่ถูกความโกรธ ความโลภ ความหลง ครอบงำ มีจิตไม่ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง กลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ

สิ่งใดเป็นไปเพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โลภ ผู้ไม่โกรธ ผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

แล้วทรงให้ชาวกาลมโคตร ตอบด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ไม่มีโทษ ผู้รู้สรรเสริญ ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

เมื่อใด ชาวกาลามโคตรพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่

เมื่ออริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้ว มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

อริยสาวกมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ ไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ ไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบันว่า

๑. ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง เหตุนี้เป็นเหตุให้เราเมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

๒. ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ เป็นสุข บริหารตนอยู่ในปัจจุบันนี้

๓. ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใคร ๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปกรรม

๔. ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป ก็ได้พิจารณาเห็นตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน

อริยสาวกมีจิตไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการนี้ในปัจจุบัน

 

 

อ่าน เกสปุตตสูตร

อ้างอิง
เกสปุตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๐๕ หน้า ๑๗๙-๑๘๔
ชุดที่
ลำดับที่
12

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม