Main navigation

ภยเภรวสูตร

ว่าด้วย
ความขาดกลัว
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุให้สะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ การขจัดความกลัวที่เกิดขึ้นก่อนตรัสรู้ แก่ชาณุโสณีพราหมณ์ เมื่อทรงแสดงธรรมจบ ชาณุโสณีพราหมณ์ประกาศตัวเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

เมือก่อนตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า เสนาสนะอันเงียบสงัด อยู่ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก การอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายจะชักนำจิตของผู้ยังไม่ได้สมาธิ ให้หวาดหวั่น

เหตุแห่งความสะดุ้งกลัว เมื่ออยู่เสนาสนะอันสงัด  ๑๖ ประการ คือ 

มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์
มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์
มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์
มีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์
มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
มีจิตพยาบาท  มีความดำริชั่วร้าย ปราศจากเมตตา
ถูกถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) กลุ้มรุม
เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ
เป็นผู้เคลือบแคลงสงสัย
เป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น
เป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด
เป็นผู้ปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ
เป็นผู้เกียจคร้าน ปราศจากความเพียร
เป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ
มีจิตไม่ตั้งมั่น ดิ้นรนกวัดแกว่ง
เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา

บุคคลย่อมมีความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะโทษของตน

บุคคลผู้เห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีกายกรรมอันบริสุทธิ์... มีวจีกรรมบริสุทธิ์... มีมโนกรรมบริสุทธิ์... มีอาชีวะบริสุทธิ์... เป็นผู้ไม่มีความอยากได้... มีจิตประกอบด้วยเมตตา... มีจิตปราศจากถีนมิทธะ... มีจิตสงบระงับ... เป็นผู้ข้ามความสงสัย... ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น... ปราศจากความหวาดกลัว... มีความปรารถนาน้อย... ปรารภความเพียร... มีสติตั้งมั่น... ถึงพร้อมด้วยสมาธิ... ถึงพร้อมด้วยปัญญา... นี้ในตน จึงถึงความเป็นผู้ปลอดภัยยิ่ง เพื่ออยู่ในป่า

ทรงดำริว่า เพราะเหตุไรจึงทรงหวังความกลัวอยู่อย่างเดียว พึงควรกำจัดความกลัวและความขลาดในอิริยาบทที่เป็นอยู่นั้น ๆ จนกว่าจะขจัดความกลัว ความขลาดนั้นได้

เมื่อกำลังจงกรมอยู่ ก็จะไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอน
เมื่อยืนอยู่ ก็ไม่จงกรม ไม่นั่ง  ไม่นอน
เมื่อนั่งอยู่ ก็จะไม่นอน ไม่ยืน ไม่จงกรม
เมื่อนอนอยู่ ก็จะไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่จงกรม

ทรงปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สติมั่นคง กายสงบระงับไม่กระสับกระส่าย จิตเป็นสมาธิมีอารมณ์แน่วแน่ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาณ ตติยฌาณ จตุตฌาณ 

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ทรงโน้มน้อมจิตไป เพื่อบุพเพนิวาสานุสติญาณ

วิชชาที่หนึ่งนี้ ทรงบรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาเสียได้ วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียได้ ความสว่างก็เกิดขึ้น 

ทรงโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ 

วิชชาที่สองนี้ ทรงบรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาเสียได้ วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียได้ ความสว่างก็เกิดขึ้น

ทรงโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ  นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อทรงรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้น จากกามาสวะ จากภวาสวะ จากอวิชชาสวะ  เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ได้รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

วิชชาที่สามนี้ ทรงบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาเสียได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น 

แม้วันนี้ ทรงปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ทรงยังเสพเสนาสนะอันสงัด เพราะทรงเห็นอำนาจประโยชน์สองอย่าง คือ เห็นความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน และเพื่ออนุเคราะห์ชุมชนผู้เกิดภายหลัง จึงทรงเสพเสนาสนะอันสงัด ทั้งที่เป็นป่าโปร่งและป่าทึบ
 


อ่าน ภยเภรวสูตร

 

อ้างอิง
ภยเภรวสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๗-๕๒ หน้า ๒๓-๓๑
ลำดับที่
15

สถานที่

วิหารเชตวัน

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม