เทวธาวิตักกสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ทรงแยกวิตกเป็น ๒ ส่วน คือ
ส่วนที่ ๑ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก
ส่วนที่ ๒ เนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตก
เมื่อทรงไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก บังเกิดขึ้น แต่ว่ามันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น ทำให้ปัญญาดับ ก่อให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน เมื่อทรงพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตกที่บังเกิดขึ้นก็ดับหายไป
และเมื่อยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึงวิตกใด ๆ มาก ใจจะน้อมไปข้างวิตกนั้น ๆ คือ
ถ้ายิ่งตรึกตรองถึงกามวิตกมาก ก็จะละทิ้งเนกขัมมวิตกเสีย มาอยู่แต่กามวิตกมาก จิตก็น้อมไปเพื่อกามวิตก
ถ้ายิ่งตรึกตรองถึงพยาบาทวิตกมาก ก็จะละทิ้งอพยาบาทวิตกเสีย มาอยู่แต่พยาบาทวิตกมาก จิตก็น้อมไปเพื่อพยาบาทวิตก
ถ้ายิ่งตรึกตรองถึงวิหิงสาวิตกมาก ก็จะละทิ้งอวิหิงสาวิตกเสีย มาอยู่แต่วิหิงสาวิตกมาก จิตก็น้อมไปเพื่อวิหิงสาวิตก
เหมือนคนเลี้ยงโคที่ต้องคอยระวังโคทั้งหลายเมื่อเข้าไปในทุ่งนาข้าวที่คับคั่งด้วยข้าวกล้า เขาต้องตี ต้อนโคทั้งหลายไม่ให้ไปกินข้าวของชาวนา เพราะเห็นโทษ การเสียทรัพย์ การถูกติเตียนเพราะโคทั้งหลายเป็นต้นเหตุ เหมือนพระองค์ที่ได้ทรงเห็นโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมอง ของอกุศลธรรมทั้งหลาย และเห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม อันเป็นความผ่องแผ้วของกุศลธรรมทั้งหลาย
ทรงไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่ เนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตก ก็บังเกิดขึ้น แต่ว่าเนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตกนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เป็นทางทำให้ปัญญาเจริญ ไม่ทำให้เกิดความคับแค้น เป็นไปเพื่อพระนิพพาน
ก็หากจะทรงตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตกนั้น ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวัน ก็ทรงยังไม่มองเห็นภัยที่จะบังเกิดขึ้นจากเนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตกได้เลย แต่ว่าเมื่อทรงตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ
จึงทรงดำรงจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดี เพราะปรารถนาว่า จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย
ภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปข้างวิตกนั้น ๆ มาก คือ
ถ้ายิ่งตรึกยิ่งตรองถึงเนกขัมมวิตกมาก ก็จะละกามวิตกเสียได้ ทำเนกขัมมวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตก็จะน้อมไปเพื่อเนกขัมมวิตก
ถ้ายิ่งตรึกยิ่งตรองถึงอพยาบาทวิตกมาก ก็จะละพยาบาทวิตกเสียได้ ทำอัพยาบาทวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตก็จะน้อมไปเพื่ออพยาบาทวิตก
ถ้ายิ่งตรึกยิ่งตรองถึงอวิหิงสาวิตกมาก ก็จะละวิหิงสาวิตกเสียได้ ทำอวิหิงสาวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตก็จะน้อมไปเพื่ออวิหิงสาวิตก
เหมือนคนเลี้ยงโคจะต้องรักษาโคทั้งหลายในที่ใกล้บ้านในทุกด้าน เมื่อเข้าไปสู่โคนต้นไม้ หรือไปสู่ที่แจ้ง จะต้องทำสติอยู่เสมอว่าฝูงโคนั้นอยู่ที่ไหน เช่นเดียวกับการทำสติอยู่เสมอว่าเหล่านี้เป็นธรรม คือ กุศลวิตก
เมื่อทรงปรารภความเพียร มีความเพียรไม่ย่อหย่อนแล้ว มีสติมั่นคง มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นอันเดียว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
ทรงบรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
เมื่อทรงมีจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ทรงโน้มน้อมจิตไปเพื่อ
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก บรรลุวิชชาที่หนึ่งในปฐมยามแห่งราตรี
รู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย (จุตูปปาตญาณ) ด้วยจักษุอันบริสุทธิ์ บรรลุวิชชาที่สองในมัชฌิมยามแห่งราตรี
อาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ อาสวสมุทัย อาสวนิโรธ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อทรงรู้เห็นอย่างนี้ จิตจึงหลุดพ้นแล้ว จากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จ แล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี วิชชาที่สามนี้ ทรงบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี
ทรงกำจัดอวิชชาแล้ว วิชชาจึงบังเกิดขึ้น กำจัดความมืดแล้ว ความสว่างจึงบังเกิดขึ้น ก็เพราะทรงไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลสส่งตนไปอยู่
แล้วทรงอุปมาว่า มีหมู่เนื้อจำนวนมากอาศัยบึงใหญ่ในป่าดง มีบุรุษผู้มุ่งร้ายต่อหมู่เนื้อนั้นปิดทางที่ปลอดภัยของหมู่เนื้อนั้นเสีย และเปิดทางที่ไม่สะดวกไว้ วางเนื้อต่อและนางเนื้อต่อไว้ล่อหมู่เนื้อ ทำให้หมู่เนื้อพากันมาตายจำนวนมาก แต่ยังมีบุรุษอีกผู้หนึ่งมุ่งประโยชน์และความปลอดภัยแก่หมู่เนื้อ เขาได้เปิดทางที่สะดวกปลอดภัย และปิดทางที่ไม่สะดวกเสีย กำจัดเนื้อต่อทั้งสอง หมู่เนื้อได้เจริญคับคั่งล้นหลาม
โดยอุปมานั้น มีความหมายดังนี้
บึงใหญ่ คือ กามคุณทั้งหลาย
หมู่เนื้อ คือ หมู่สัตว์ทั้งหลาย
บุรุษผู้มุ่งร้าย คือ ตัวมารผู้มีบาป
เนื้อต่อตัวผู้ คือ นันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยความเพลิน)
นางเนื้อต่อ คือ อวิชชา
ทางที่ไม่สะดวก เป็นชื่อของทางผิด ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ มิจฉาทิฏฐิ ๑ มิจฉาสังกัปปะ ๑ มิจฉาวาจา ๑ มิจฉากัมมันตะ ๑ มิจฉาอาชีวะ ๑ มิจฉาวายามะ ๑ มิจฉาสติ ๑ มิจฉาสมาธิ ๑
บุรุษผู้มุ่งประโยชน์และความปลอดภัย คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทางที่ปลอดภัย สะดวก คือ ทางที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑
พระองค์ได้ทรงสั่งสอนแสดงธรรมทางอันปลอดภัย เป็นทางที่ควรไป และปิดทางที่ไม่สะดวก กำจัดนันทิราคะ และสังหารอวิชชา ให้สาวกทั้งหลายปฏิบัติ เพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง