วิภังคสูตร
อิทธิบาท ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อันประกอบด้วยสมาธิและปธานสังขารว่า
จักไม่ย่อหย่อนเกินไป
จักไม่ต้องประคองเกินไป
จักไม่หดหู่ในภายใน
จักไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก
มีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น
มีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น
มีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น
มีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ย่อหย่อนเกินไป คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยความเกียจคร้าน สัมปยุตด้วยความเกียจคร้าน
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ต้องประคองเกินไป คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่หดหู่ในภายใน คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ สัมปยุตด้วยถีนมิทธะ
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่ฟุ้งซ่านไป พล่านไป ปรารภกามคุณ ๕ ในภายนอก
การมีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา
การมีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณากายนี้ เบื้องบนจากพื้นเท้าขึ้นมา เบื้องล่างจากปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
การมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิและปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด ก็ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิและปธานสังขารในกลางคืน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น
อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางคืน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด ก็อย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น
การมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ คือ อาโลกสัญญา อันภิกษุยึดไว้ดีแล้ว ความสำคัญว่า กลางวัน ตั้งมั่นดีแล้ว
ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ
ย่อมใช้อำนาจทางกายได้ คือ คนเดียวเป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียว ทำให้หายไป ทำให้ปรากฏ ฯลฯ (อิทธวิธีญาณ)
ย่อมได้ยินเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ (ทิพโสตญาณ)
ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ (เจโตปริยญาณ)
ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก (ปุพเพนิวาสนุสติญาณ)
ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ได้ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม (จุตูปปาญาณ)
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ (อาสวักขยญาณ)
อ่าน วิภังคสูตร