ขัชชนิยสูตร
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เมื่อตามระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้นก็ย่อมตามระลึกถึงอุปาทานขันธ์ ๕ หรือกองใดกองหนึ่ง คือ
ย่อมตามระลึกว่า ในอดีตกาล เราเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้
ที่เรียกว่ารูปเพราะสลายไป สลายไปเพราะหนาวบ้าง ร้อนบ้าง หิวบ้าง กระหายบ้าง สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง
ที่เรียกว่าเวทนาเพราะเสวยอารมณ์สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุขบ้าง จึงเรียกว่า เวทนา
ที่เรียกว่าสัญญาเพราะจำได้หมายรู้ ในสีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง จึงเรียกว่า สัญญา
ที่เรียกว่าสังขารเพราะปรุงแต่งสังขตธรรม คือ รูปโดยความเป็นรูป เวทนาโดยความเป็นเวทนา สัญญาโดยความเป็นสัญญา สังขารโดยความเป็นสังขาร วิญญาณโดยความเป็นวิญญาณ จึงเรียกว่า สังขาร
ที่เรียกว่าวิญญาณเพราะรู้แจ้ง รู้แจ้งในรสเปรี้ยวบ้าง รสขมบ้าง รสเผ็ดบ้าง รสหวานบ้าง รสขื่นบ้าง รสไม่ขื่นบ้าง รสเค็มบ้าง รสไม่เค็มบ้าง จึงเรียกว่า วิญญาณ
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราถูกรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กินอยู่ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ย่อมไม่มีความอาลัยใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ควรตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั้น พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
อริยสาวกนี้ย่อมทำให้พินาศ ย่อมไม่ก่อ ย่อมละทิ้ง ย่อมไม่ถือมั่น ย่อมเรี่ยราย ย่อมไม่รวบรวมเข้าไว้ ย่อมทำให้มอด ไม่ก่อให้ลุกโพลงขึ้น ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้น รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี
อริยสาวกนี้เรียกว่าย่อมไม่ก่อ ไม่ทำให้พินาศ เป็นผู้ทำให้พินาศได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่ละ ไม่ถือมั่น เป็นผู้ละได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่เรี่ยราย ไม่รวบรวม เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่ทำให้มอด ไม่ก่อให้ลุกโพลงขึ้น เป็นผู้ทำให้มอดได้แล้วตั้งอยู่ ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เทวดาพร้อมด้วยอินทร์ พรหม และท้าวปชาบดี ย่อมนมัสการภิกษุผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมนอบน้อมต่อท่านเหล่านี้
อ่าน ขัชชนิยสูตร