Main navigation

ทักขิณาวิภังคสูตร

ว่าด้วย
การจำแนกทักษิณาทาน
เหตุการณ์
พระนางมหาปชาบดีโคตมีประสงค์จะถวายจีวรผืนใหม่แก่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงปฏิเสธ พระอานนท์ทูลขอพระผู้มีพระภาคให้ทรงรับไว้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์เรื่องการจำแนกทานและผลแห่งทาน

พระนางมหาปชาบดีโคตมีทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ รับผ้าใหม่ทั้งคู่หนึ่งที่นางได้กรอด้ายและทอเอง ๓ ครั้ง พระผู้มีพระภาคปฏิเสธทั้งสามครั้งและทรงบอกพระนางให้ถวายแก่สงฆ์ เพราะเมื่อพระนางถวายสงฆ์แล้ว พระนางจักได้บูชาทั้งพระผู้มีพระภาคและสงฆ์

พระอานนท์จึงได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระนางมหาปชาบดีเป็นผู้มีอุปการะแก่พระผู้มีพระภาคเพราะเป็นผู้ให้ดื่มน้ำนม ส่วนพระผู้มีพระภาคก็เป็นผู้มีอุปการะแก่พระนางเพราะได้ให้พระนางถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นผู้มีศีล และเป็นผู้หมดความสงสัยในอริยสัจ ๔

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จริงอยู่ การตอบแทนต่อบุคคลที่ทำให้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ทำให้เป็นผู้มีศีล และเป็นผู้หมดความสงสัยในอริยสัจ ๔ ด้วยการกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ไม่กล่าวว่าเป็นการตอบแทนด้วยดี

แล้วทรงกล่าวต่อไปว่า

ปาฏิปุคคลิกมี ๑๔ อย่าง (ทานเจาะจงผู้รับ) คือ

ให้ทานในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ ๑
ให้ทานในพระปัจเจกสัมพุทธ ๒ 
ให้ทานในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ๓ 
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ๔
ให้ทานแก่พระอนาคามี ๔ 
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ๖
ให้ทานแก่พระสกทาคามี ๗
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ๘
ให้ทานในพระโสดาบัน ๙
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ๑๐
ให้ทานในบุคคลภายนอกพุทธศาสนาผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ๑๑
ให้ทานในบุคคลผู้มีศีล ๑๒
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล ๑๓
ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน ๑๔
 
ใน ๑๔ ประการนั้น

บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน
  พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า

ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล
  พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า

ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล
  พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า

ให้ทานในบุคคลภายนอกพุทธศาสนาผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม
  พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า

ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง
  พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้จนประมาณไม่ได้

จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ

ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง (สังฆทาน) คือ

ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๑
ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่ายในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ๒
ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ๓
ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ ๔
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน ๕
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน ๖
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน ๗
 
ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง คือ

ทักษิณาบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) คือ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก

ทักษิณาบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) คือ ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม

ทักษิณาไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) และฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) คือ ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก

ทักษิณาบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก (ผู้ให้) และฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ) คือ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม
 
แล้วทรงตรัสคาถาประพันธ์ว่า

ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ๑

ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ๒

ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทานนั้นไม่มีผลไพบูลย์ ๓

ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทานนั้นมีผลไพบูลย์ ๔

ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย ๕




อ่าน ทักขิณาวิภังคสูตร

 

อ้างอิง
ทักขิณาวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๗๐๖-๗๑๙
ลำดับที่
4

Keywords

ทาน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม