Main navigation

วิภังคสูตร

ว่าด้วย
วิธีเจริญอิทธิบาท ๔
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีเจริญอิทธิบาท ๔ ให้ผลมาก มีอานิสงส์มาก

อิทธิบาท ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ก็อิทธิบาท ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญอิทธิบาทประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร วิริยสมาธิและปธานสังขาร จิตตสมาธิและปธานสังขาร วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ของเรา
จักไม่ย่อหย่อนเกินไป
ไม่ต้องประคองเกินไป
ไม่หดหู่ในภายใน
ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก

และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า

เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น
เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น

เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น
เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น

กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น
กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น

เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่

ก็ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา ที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน

ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา ที่ประกอบด้วยความเกียจคร้าน สัมปยุตด้วยความเกียจคร้าน นี้เรียกว่า ย่อหย่อนเกินไป

ก็ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา ที่ต้องประคองเกินไปเป็นไฉน

ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา ที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบแห่งจิต) สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ นี้เรียกว่า ต้องประคองเกินไป

ก็ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา ที่หดหู่ในภายในเป็นไฉน

ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา ที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ (ความหดหู่ ง่วงเหงา ซึมเซา)  สัมปยุตด้วยถีนมิทธะ นี้เรียกว่า หดหู่ในภายใน

ก็ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา ที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกเป็นไฉน

ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา ที่ฟุ้งซ่านไป พล่านไป ปรารภกามคุณ ๕ ในภายนอก นี้เรียกว่า ฟุ้งซ่านไปในภายนอก

ภิกษุมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น อย่างไร  

ความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้า อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา

ภิกษุชื่อว่ามีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

ก็ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณากายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องล่างแต่ปลายผมลงไป

มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่าง ๆ ว่า ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

ภิกษุชื่อว่ามีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

ก็ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย ฉันทสมาธิและปธานสังขาร วิริยสมาธิและปธานสังขาร จิตตสมาธิและปธานสังขาร วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ในกลางวัน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด

เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย ฉันทสมาธิและปธานสังขาร วิริยสมาธิและปธานสังขาร จิตตสมาธิและปธานสังขาร วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ในกลางคืน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย ฉันทสมาธิและปธานสังขาร วิริยสมาธิและปธานสังขาร จิตตสมาธิและปธานสังขาร วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ในกลางคืน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด

เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย ฉันทสมาธิและปธานสังขาร วิริยสมาธิและปธานสังขาร จิตตสมาธิและปธานสังขาร วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ในกลางวัน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น

ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

ก็ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่อย่างไร

อาโลกสัญญา (ความสำคัญว่าแสงสว่าง) อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว ความสำคัญว่า กลางวัน ตั้งมั่นดีแล้ว

ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่อย่างนี้แล

อิทธิบาท ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

อานิสงส์ของการเจริญอิทธิบาท ๔

ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มากซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้

ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ

คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้
หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้

ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้

ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ ...
ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้

ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้
เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้

เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้

ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์…
ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยฝ่ามือก็ได้

ใช้อำนาจทางกายไปตลอดถึงพรหมโลกก็ได้

ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ

เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งอยู่ไกลและใกล้
ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์

ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ

จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ
หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่
หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต
หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตตั้งมั่น ก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น
หรือจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น

จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ

ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า

ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้

เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ

เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์

ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า

…สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดมั่นการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

…ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดมั่นการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ  ปัญญาวิมุติ  

…อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

อ้างอิง
วิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๗๙-๑๒๐๔
ลำดับที่
9

สถานที่

ไม่ระบุ

อารมณ์

สงบ มั่นคง

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม