อุทเทสวิภังคสูตร
พระผู้มีพระภาคได้แสดงอุทเทสวิภังค์แก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป
ท่านพระมหากัจจายนะได้จำแนกเนื้อความดังนี้
ความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก คือ
ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ได้ยินเสียงด้วยโสต ดมกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยชิวหา ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน แล่นไปตามนิมิต กำหนัดด้วยยินดีนิมิต ผูกพันด้วยยินดีนิมิต คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก คือ
ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ได้ยินเสียงด้วยโสต ดมกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยชิวหา ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน ไม่แล่นไปตามนิมิต ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิต ไม่ผูกพันด้วยยินดีนิมิต คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิต
จิตตั้งสงบอยู่ภายใน คือ
ภิกษุเข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่วิเวก กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ผูกพันด้วยยินดี ปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ภิกษุเข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ภิกษุเป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน เป็นผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่นไปตามอุเบกขา กำหนัดด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา ผูกพันด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา ประกอบด้วยสัญโญชน์คือ ความยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา
ภิกษุเข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น แล่นไปตามอทุกขมสุขเวทนา กำหนัดด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา ผูกพันด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีอทุกขมสุขเวทนา
จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน คือ
ภิกษุเข้าปฐมฌาน ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น ไม่แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ภิกษุเข้าทุติยฌาน ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น ไม่แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดสมาธิ ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ภิกษุเข้าตติยฌาน เป็นผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น ไม่แล่นไปตามอุเบกขา ไม่กำหนัดด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา ไม่ผูกพันด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา
ภิกษุเข้าจตุตถฌาน มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น ไม่แล่นไปตามอทุกขมสุขเวทนา ไม่กำหนัดด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา ไม่ผูกพันด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีอทุกขมสุขเวทนา
สะดุ้งเพราะตามถือมั่น คือ
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมเล็งเห็นขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ โดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีขันธ์ ๕ บ้าง เล็งเห็นขันธ์ ๕ในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในขันธ์ ๕ บ้าง
ขันธ์ ๕ ของเขานั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นของขันธ์ ๕ เขาย่อมมีความรู้สึกปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของขันธ์ ๕
ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดแต่ความปรวนแปรไป ตามความแปรปรวนของขันธ์ ๕ ย่อมตั้งครอบงำจิตของเขาได้ เพราะจิตถูกครอบงำ เขาจึงเป็นผู้หวาดเสียว คับแค้น ห่วงใย และสะดุ้ง เพราะตามถือมั่น
ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น คือ
อริยสาวกผู้สดับแล้ว ย่อมไม่เล็งเห็นขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ โดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีขันธ์ ๕ บ้าง ไม่เล็งเห็นขันธ์ ๕ ในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในขันธ์ ๕ บ้าง
ขันธ์ ๕ ของท่านนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้ เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นของขันธ์ ๕ ท่านย่อมมีความรู้สึกไม่ปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของขันธ์ ๕
ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดความปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของขันธ์ ๕ ย่อมไม่ตั้งครอบงำจิตของท่านได้ เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ ท่านจึงเป็นผู้ไม่หวาดเสียว ไม่คับแค้น ไม่ห่วงใยและไม่สะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น
ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป
อ่าน อุทเทสวิภังคสูตร