Main navigation

จูฬโคสิงคสาลสูตร

ว่าด้วย
ธรรมเครื่องอยู่สำราญ
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังป่าโคสิงคสาลวัน ได้ตรัสถามพระอนุรุทธะ พระนันทิยะ และพระกิมิละ ถึงธรรมอันเป็นเหตุให้พร้อมเพียงกัน และธรรมเครื่องอยู่สำราญ

พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ พระกิมิละ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงธรรมอันยังให้พร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รัก ด้วยดำริว่า

เป็นลาภของเรา เราได้ดีแล้ว ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เห็นปานนี้ และเข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในท่านเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

และพึงเก็บจิตของตนเสีย แล้วประพฤติตามจิตของท่านเหล่านี้ กายนั้นต่างกันจริง แต่จิตเหมือนเป็นอันเดียวกัน

ทั้งสามรูปเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่ด้วยการดูแล เกื้อกูลกันดังนี้

รูปใดบิณฑบาตกลับจากบ้านก่อน  รูปนั้นก็ปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ ล้างสำรับกับข้าวแล้วตั้งไว้ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้

รูปใดบิณฑบาตกลับจากบ้านทีหลัง ถ้ามีอาหารที่ฉันแล้วเหลืออยู่ ถ้าต้องการก็ฉัน ถ้าไม่ต้องการ ก็เททิ้งในที่ปราศจากของเขียวสด หรือล้างเสียในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้นรื้ออาสนะเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างสำรับกับข้าวแล้วเก็บไว้ เก็บน้ำฉันน้ำใช้ กวาดโรงฉัน

รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำในวัจจกุฎีว่างเปล่า รูปนั้น  ก็ตักน้ำตั้งไว้ ถ้ารูปนั้นไม่สามารถ ก็กวักมือเรียกเพื่อนมา แล้วช่วยกันตักยกเข้าไปตั้งไว้

และนั่งประชุมกันด้วยธรรมมีกถาตลอดคืนยันรุ่งทุก ๆ ๕ วัน

เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปอยู่ ย่อมบรรลุคุณวิเศษ คือ ญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญอันยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และสัญญาเวทยิตนิโรธ

ทีฆปชนยักษ์ได้สรรเสริญว่า เป็นลาภของชาววัชชี ชาววัชชีได้ดีแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคและพระเถระทั้ง ๓ ท่านนี้มาพักอยู่

เมื่อพวกภุมมเทวดาได้ฟังเสียงของทีฆปรชนยักษ์ก็ได้ประกาศต่อ ๆ ไป จนเสียงไปถึงพวกเทพที่นับเข้าในจำพวกพรหม 

พระผู้มีพระภาคจึงสรรเสริญพระเถระทั้ง ๓ กับทีฆปชนยักษ์ว่า บุคคลใด สกุลใด นิคมใด นครใด โลกใด เทวโลกใด มารโลกใด พรหมโลกใด มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงพระเถระทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนเหล่านั้น สกุลนั้น นิคมนั้น นครนั้น โลกนั้น เทวโลกนั้น มารโลกนั้น พรหมโลกนั้น ตลอดกาลนาน

พระเถระทั้ง ๓ นี้ ปฏิบัติแล้วก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย




อ่าน จูฬโคสิงคสาลสูตร

 

อ้างอิง
จูฬโคสิงคสาลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๖๑-๓๖๘ หน้า ๒๗๒-๒๗๙
ลำดับที่
6

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม