Main navigation

ทารุขันธสูตรที่ ๑

ว่าด้วย
อุปมาด้วยขอนไม้
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุปมาขอนไม้แก่ภิกษุทั้งหลายใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคง นันทโคบาลเลี้ยงวัวอยู่แถวนั้นได้ฟังธรรมเทศนา จึงขออุปสมบท ต่อมาไม่นานก็บรรลุอรหันต์

พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าเห็นท่อนไม้ใหญ่ที่ถูกกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคาหรือไม่ เมื่อภิกษุกราบทูลว่าเห็น พระองค์ได้ตรัสว่า
 
ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น ไม่จมเสียในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวน ๆ ไว้ ไม่เน่าในภายใน ท่อนไม้นั้นจะลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้  เพราะกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด  

ถ้าภิกษุทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวน ๆ ไว้ ไม่เป็นผู้เสียในภายใน ภิกษุทั้งหลายจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน เพราะเหตุว่าสัมมาทิฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน
 
และได้ตรัสว่า
 
ฝั่งนี้ เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖
ฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖
จมในท่ามกลาง เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ
เกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ
มนุษย์ผู้จับ หมายถึง ภิกษุผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา
 
อมนุษย์ผู้จับ หมายถึง ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทวดาหรือเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์
 
เกลียวน้ำวน ๆ ไว้ เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕
 
ความเป็นของเน่าในภายใน หมายถึง ภิกษุผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะ ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี ก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย
 
นายนันทโคบาลยืนอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าตนไม่เข้าใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้าใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่ติดบนบก ไม่ถูกมนุษย์จับ ไม่ถูกอมนุษย์จับ ไม่ถูกเกลียวน้ำวน ๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน และขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค
 
พระผู้มีพระภาคตรัสให้นายนันทโคบาลมอบโคคืนให้เจ้าของ แล้วได้บรรพชาอุปสมบท

ท่านพระนันทะอุปสมบทแล้วไม่นาน เป็นผู้เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ท่านพระนันทะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย




อ่าน ทารุขันธสูตรที่ ๑


 

อ้างอิง
ทารุขันธสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๒๒-๓๒๔ หน้า ๑๙๘-๑๙๙
ลำดับที่
11

สถานที่

แม่น้ำคงคา

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม