Main navigation
วิปัสสนาญาณ
Share:

(๑)(๒) ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่ากายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสดไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดาและวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวล ร้อยอยู่ในนั้น บุรุษมีจักษุจะพึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้ว พิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น

(๑) นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ (ศีล สมาธิ)

(๒) ข้อนี้เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง

(๓) ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์

(๔) สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด ศาสดานี้ไม่ควรท้วงในโลก  อนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ

 

อ้างอิง:
(๑) สามัญญผลสูตร วิปัสสนาญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๓๑ หน้า ๗๒
(๒) สุภสูตร วิปัสสนาญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๒๙ หน้า ๒๙๘-๒๙๙
(๓) เกวัฏฏสูตร วิปัสสนาญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๔๒ หน้า ๓๒๐
(๔) โลหิจจสูตร วิปัสสนาญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๖๓ หน้า ๓๔๙

คำต่อไป