Main navigation
วิชชา ๓
Share:

พราหมณ์ย่อมบัญญัติพราหมณ์ว่าได้วิชชา ๓ อย่างไร

พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาติ ข้างฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิสะอาดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ

เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกฏุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕

เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และตำราทายมหาปุริสลักษณะ

พวกพราหมณ์ย่อมบัญญัติพราหมณ์ว่าได้วิชชา ๓ อย่างนี้

ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัย ย่อมมีอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์
อยู่

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อน ๆ ได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง ...สิบชาติบ้าง ...ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า

ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วไปเกิดในภพโน้น

แม้ในภพนั้น เราก็ได้ชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้

เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

วิชชาข้อแรกเป็นอันเธอได้บรรลุแล้ว ดังนี้ อวิชชาสูญไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย (จุตูปปาตญาณ) เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์

ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อแตกกายตายไป ต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อแตกกายตายไป ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้

เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์
ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

วิชชาข้อที่สอง ย่อมเป็นอันเธอได้บรรลุแล้ว ดังนี้ อวิชชาสูญไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า

นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

วิชชาข้อที่สาม ย่อมเป็นอันเธอได้บรรลุแล้ว ดังนี้ อวิชชาสูญไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น

ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอย่างนี้

ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์เป็นอย่างหนึ่ง ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอย่างหนึ่ง ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์ ไม่ถึงส่วนที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกไป ๑๖ ครั้งของผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยนี้

 

 

 

อ้างอิง:
(๑)  ติกรรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๙๘ หน้า ๑๕๗-๑๖๐
 

คำต่อไป