(๑) วิญญาณฐิติ ๗ (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) เป็นไฉน
๑. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกมนุษย์ และพวกเทพ
๒. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพในชั้นพรหมผู้บังเกิดด้วยปฐมฌาน และสัตว์ผู้เกิดในอบาย ๔ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒
๓. สัตว์มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกเทพชั้นอาภัสสร นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓
๔. สัตว์ที่มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพชั้นสุภกิณหะ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๔
๕. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆะสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
๖. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖
๗. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรเพราะล่วงชั้นวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๗
(๒) วิญญาณฐิติ ๔ อย่าง
๑. วิญญาณที่เข้าถึงซึ่งรูปเมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่วิญญาณนั้นมีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่พำนัก เข้าไปเสพซึ่งความยินดี ย่อมถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์
๒. วิญญาณที่เข้าถึงซึ่งเวทนา เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ วิญญาณนั้นมีเวทนาเป็นอารมณ์ มีเวทนาเป็นที่พำนัก เข้าไปเสพซึ่งความยินดี ย่อมถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์
๓. วิญญาณที่เข้าถึงซึ่งสัญญา เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ วิญญาณนั้นมีสัญญาเป็นอารมณ์ มีสัญญาเป็นที่พำนัก เข้าไปเสพซึ่งความยินดี ย่อมถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์
๔. วิญญาณที่เข้าถึงซึ่งสังขาร เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ วิญญาณนั้นมีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่พำนัก เข้าไปเสพซึ่งความยินดี ย่อมถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์