Main navigation

ความต้องการการยอมรับ

Q ถาม :

กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ ผมได้ฟังไฟล์เสียงท่านอาจารย์ที่สอนว่า ความต้องการการยอมรับเป็นที่รวมแห่งตัณหาทั้งหลาย ผมพยายามวิปัสสนาตาม แต่เห็นไม่ครบครับ ภวตัณหากับความต้องการการยอมรับพอเข้าใจได้ง่าย ส่วนวิภวตัณหา กับกามตัณหา มองไม่ออกเลยครับ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างด้วยครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

กามตัณหา

เมื่อบุคคลปรารถนากามในบุคคลอื่นก็ต้องการการยอมรับจากคนอื่นที่จะให้ตนเข้าไปรุกล้ำโซนส่วนตัว ครั้นเขาไม่อนุญาตก็อกหักผิดหวังเป็นทุกข์ ครั้นเขาอนุญาตก็เป็นภาระผูกพันรับผิดชอบ ก็ทุกข์เพราะความหวง ห่วง ยึดถือ ผูกมัด

ภวตัณหา

เมื่อบุคคลบัญญัติสมมติขึ้นว่า ฉันเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องการให้คนอื่นยอมรับตนตามที่ตนสมมติไว้ ครั้นเขาไม่ยอมรับ ก็น้อยใจ เรียกร้องความสนใจ พยายามพิสูจน์ตนให้เขายอมรับสมมติของตนให้ได้ เมื่อถูกปฏิเสธบ่อย ๆ อัตตาที่ปั้นขึ้นมาก็รวดร้าว ระทม น้อยใจว่าเขาไม่เข้าใจไม่ยอมรับ พฤติกรรมก็ประชดประชัน

วิภวตัณหา

เมื่อตนไม่ชอบใคร หรืออะไร ก็จะพยายามเผยแพร่ความเกลียดชังให้คนอื่นยอมรับว่าทิฏฐิของตนถูก ต้องการให้เขายอมรับร่วมเกลียดชังด้วย เมื่อชนเกลียดกันและกัน ความแตกแยกก็เกิดขึ้น เมื่อแตกแยก วิบัตินานาก็เกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหลายก็ตามมา

รากเหง้า

ความต้องการการยอมรับทั้งหมดมาจากรากคือ "อัตตา" ลำต้นคือทิฏฐิ มีดอกสามกลีบคือ กลีบกาม กลีบภวะ กลีบวิภวะ มีผลคือความอึดอัดขมขื่นรวดร้าว

ความต้องการการยอมรับนี้เองที่ก่อให้เกิดอาการประสาทมากมาย ปรุงแต่งตนให้เป็นที่สนใจ จิตใจโหยหาเหยื่อมายอมรับตน เรียกร้องความสนใจ ไม่ได้ก็ประชดประชัน เอาการยอมรับ-ไม่ยอมรับของคนอื่นมาบีบจิตตัวเอง บางทีก็ไปบีบจิตคนอื่นให้ยอมรับตนให้ได้ เกิดกรรมเบียดเบียนจิตใจตามมามาก ทั้งหมดนี้คือความไร้อิสรภาพ ไร้ความสุข ทุกข์งอกงาม

มรรควิธี

1.  เอาตัวตนออกเสียก็จบกิจ

2.  หากยังเอาตัวตนออกไม่ได้ ก็อย่านิยามตนให้เป็นอะไร ๆ ปล่อยรู้ว่างเลย

3.  กำหนดจิตในจิต จะพบความสุขยิ่งใหญ่ สะอาด อิสระกว่าการยอมรับจากใคร ๆ ในโลก แล้วจะไม่ต้องการการยอมรับอันฉาบฉวยจากใคร ๆ อีก

4.  ปล่อยวางการปรุงแต่งความเป็น ความไม่เป็น และการเสพให้ขาดจากจิต จนอิสระ เมื่อนั้นนอกจากจะไม่ต้องการการยอมรับจากใครเลยแล้ว ยังจะสามารถให้การยอมรับคนอื่นได้ แม้เขาเข้าใจ หรือไม่เข้าใจตนก็ตาม และที่สำคัญจะไม่กินการยอมรับและไม่ยอมรับของใคร ๆ เลย จะเห็นชัดว่าการยอมรับและการไม่ยอมรับเป็นของเขาล้วน ๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับตนแม้แต่น้อย  

5.  เมื่อจิตอิสระบริสุทธิ์สมบูรณ์แล้ว ก็จะเลือกไปมาหาสู่กับอิสรจิตอันบริสุทธิ์เช่นกัน ซึ่งเป็นสังคมที่ไร้การเรียกร้องต้องการใด ๆ มีแต่ต่างเกื้อกูลกันอย่างหมดจด เป็นสังคมล้ำค่าที่เลอเกียรติมาก


เคล็ดความจริงในโลกแห่งความเป็นจริง 

ใครที่ต้องการการยอมรับมาก มักไม่ได้รับการยอมรับ เพราะจะ

1) ปรุงแต่งจนผิดเพี้ยนธรรมชาติหลอกตนลวงคนอื่น

2) สร้างภาระเกินจำเป็นในชีวิตมากมายจนเหนื่อยยาก

3) โหยหาจนจิตใจพร่องอ่อนพลัง  

4) ยื้อแย่งกระทบกันเองในหมู่ผู้ที่ต่างต้องการการยอมรับจากกันและกัน

5) จิตเป็นทาสความรู้สึกของคนอื่น ฟูแฟบตามเหตุการณ์ต่าง ๆ เสียสติ สิ้นสมาธิ  

6) แสดงความประสาทโดยไม่รู้ตัว

7) ทำลายความสัมพันธ์ดี ๆ ที่มีอยู่โดยไม่ตั้งใจ  

8) ปัญญาหาย โมหะและอวิชชาโต

9) ตรงสู่ความทุกข์ เลอะเทอะโดยไม่จำเป็น

10) หาได้ง่าย มีอยู่เกลื่อนโลก จึงไม่เป็นที่ต้องการ และมักกลายเป็นที่น่ารังเกียจ


ใครที่ไม่ต้องการการยอมรับจากคนอื่น มักได้รับการยอมรับโดยง่าย เพราะ

1) เป็นธรรมชาติเป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง

2) ชีวิตมีภาระน้อย เรียบง่าย สุขสงบ สบาย ๆ  

3) จิตใจอิ่มเต็ม มีพลังภายในเสมอ

4) ไม่ยื้อแย่งแข่งกับใคร สงบสุขภายในได้ตลอด  

5) จิตเป็นอิสระไม่ต้องอาศัยความรู้สึกของใครมาประกอบ  

6) มักฉายธรรมฉลาดโดยไม่ตั้งใจ  

7) สร้างความสัมพันธ์อันประเสริฐ ต่างเคารพให้เกียรติกันอย่างเป็นอิสระจากกันแม้ไม่ตั้งใจ  

8) ปัญญาเติบโต โมหะหาย อวิชชาฝ่อ  

9) ตรงสู่ความสุข ความบริสุทธิ์ง่าย ๆ  

10) หาได้ยากในโลก จึงเป็นที่ต้องการและเป็นที่เคารพมาก

เอาไปพิจารณา แล้วปรับจิตและชีวิตให้อิสรสุขล้ำค่าภายในนะครับ

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

อัตตา ความต้องการการยอมรับ