Main navigation

การแคร์ความรู้สึกคนอื่น ดีหรือไม่

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ ผมมีนิสัยหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี คือชอบคิดชอบแคร์ว่าคนอื่นเขาคิด เขารู้สึกต่อเราอย่างไร บางทีก็เหมือนว่าดีที่เราละเอียดอ่อน ความรู้สึกไว แต่ใจก็ไม่เคยปลอดโปร่งเลย ยิ่งสนใจมากก็ยิ่งเข้าสมาธิไม่ได้ หากไปซักไซ้คนอื่นเพื่อจะเข้าใจความจริง ก็ดูเหมือนความสัมพันธ์จะไม่ดี บางทีก็เสียหายไปโดยไม่ตั้งใจ พอรู้ว่าลูกน้องบางคนรู้สึกไม่ดีกับเรา ก็อยากจะจัดการ ยิ่งจัดการก็ยิ่งเสียหาย

ขอความกรุณาท่านอาจารย์ชี้แนะแนวทางทางปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนี้ด้วยครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เรื่องนี้ละเอียด ค่อย ๆ พิจารณาตามนะ

การแคร์ความรู้สึกคนอื่นเป็นการดี แต่การพยายามจัดการบังคับให้คนอื่นรู้สึกดีกับเราเสมอเป็นความเลว

การแคร์ความรู้สึกคนอื่นเป็นการดีอย่างไร

พระผู้มีพระภาคทรงสอนท่านพระราหุลว่า  

"เมื่อเธอจะคิด พึงพิจารณาว่า ความคิดนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขต่อตนและต่อผู้อื่นหรือไม่ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น พึงคิด หากเป็นไปเพื่อทุกข์โทษแก่ตนและผู้อื่น ไม่พึงคิด"

"เมื่อเธอจะพูด พึงพิจารณาว่า คำพูดนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขต่อตนและต่อผู้อื่นหรือไม่ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น พึงพูด หากเป็นไปเพื่อทุกข์โทษแก่ตนและผู้อื่น ไม่พึงพูด"

"เมื่อเธอจะกระทำ พึงพิจารณาว่า การกระทำนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขต่อตนและต่อผู้อื่นหรือไม่ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น พึงกระทำ หากเป็นไปเพื่อทุกข์โทษแก่ตนและผู้อื่น ไม่พึงกระทำ"

นั่นคือสัมมาปฏิปทานำมาซึ่งความหมดจดแห่งศีล คือ แคร์ความรู้สึกของตนและความรู้สึกคนอื่น แล้วบริหารจัดการที่ความคิด คำพูด การกระทำของตนให้หมดจดและเหมาะสม

ทำอย่างนี้จิตใจของตนก็ดี เข้าสมาธิง่าย จิตใจผู้อื่นก็ดี มีสัมพันธ์อันอบอุ่นต่อกัน ท่านพระราหุลจึงเป็นที่รักมาก ใคร ๆ ก็อยากสงเคราะห์ท่าน

แต่ถ้าแคร์คนอื่นแล้ว พยายามจัดการบีบบังคับให้คนอื่นคิดดีต่อตน รู้สึกดีต่อตน พูดดีต่อตน ทำดีต่อตนเท่านั้น จะเกิดผลอย่างไร

1. จิตใจตนจะเริ่มโหยหาและอ่อนแอ เพราะคาดหวังว่าต้องได้รับการยอมรับจากคนอื่น จิตใจจึงจะเป็นสุข นั่นเป็นการบีบจิตตนเองให้คับแคบ เล็กลง และติดคุกการยอมรับจากคนอื่นไปทีละน้อย จนสูญอิสรภาพทางจิตใจ และเสียพลังจิตเอง จิตเช่นนี้จะเปราะบางมาก ครั้นมีใครแสดงการไม่ยอมรับ จะเจ็บปวดรวดร้าว ทนไม่ได้

2. เมื่อพยายามจัดการบีบบังคับให้คนอื่นคิดพูดทำดีต่อตนเท่านั้น นั่นเริ่มก้าวก่ายจิตใจของผู้อื่น และกรรมไม่ดีเกิดขึ้นตามมา ความสัมพันธ์จะเสียหาย ที่พยายามดีต่อกันบ้างก็เป็นของปลอมไม่ได้ออกมาจากใจจริงของกันและกัน ตัวเองก็คอยหวาดระแวงว่าใครจะคิดอย่างไรต่อเรา ความหวาดระแวงทำให้จิตไหลออกนอก สมาธิพัง กลายเป็นคนประสาท

3. ระบบความสัมพันธ์จะเสียหาย ระบบกรรมจะเสียหาย การทำงานจะเสียหาย สังคมจะเสียหาย ระบบธรรมและความงามสง่าจะเสียหาย 

ดังนั้น นิสัยนี้เป็นมิจฉาปฏิปทา

จะเห็นได้ว่า เริ่มต้นจากแคร์ความรู้สึกเหมือนกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

แต่ท่านพระราหุล แคร์แล้ว บริหารจัดการความคิด คำพูด การกระทำของตน จึงหมดจด เป็นกรรมดี เป็นธรรมงาม เป็นที่รัก สัมพันธ์อบอุ่น สมานสามัคคี พากันเจริญด้วยดี ธรรมกิจรุ่งเรือง สุขภาพจิตดี เข้าสมาธิง่ายได้ตลอดเวลา นี่เป็น สัมมาปฏิปทา

แต่ถ้าเราแคร์แล้ว พยายามบริหารจัดการความคิด คำพูด การกระทำของคนอื่นให้ได้ดังใจเรา จะกลายเป็นคนประสาท เป็นกรรมเลว เป็นธรรมทราม เป็นที่กังขาและรังเกียจ สัมพันธ์พังทลาย แตกแยก ทำลายล้างกัน การงานพินาศ สมาธิล่มสลาย นั่นเป็น มิจฉาปฏิปทา

ดังนั้น พึงเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เดินตามรอยท่านพระราหุล ผู้เป็นที่รัก และรุ่งเรือง เป็นที่รักและรุ่งเรืองขนาดไหน ก็ขนาดสวรรค์ยังรักและเอ็นดู นิมนต์ท่านไปอยู่ประจำบนดาวดึงส์จนกระทั่งเข้านิพพาน เป็นพระอรหันต์ท่านเดียวที่ละขันธ์เข้านิพพานบนสวรรค์ ไม่ต้องมีเวทนาใด ๆ แสนสุขสุดยอด เอาไหมล่ะ