Main navigation
วิญญาณ
Share:

(๑) เพราะอะไรจึงเรียก วิญญาณ

เพราะรู้แจ้ง จึงเรียกว่าวิญญาณ

รู้แจ้งอะไร

รู้แจ้งรสเปรี้ยวบ้าง รสขมบ้าง รสเผ็ดบ้าง รสหวานบ้าง รสขื่นบ้าง รสไม่ขื่นบ้าง รสเค็มบ้าง รสไม่เค็มบ้าง

(๒) วิญญาณ ๖ ได้แก่

๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางตา)
๒. โสตวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางหู)
๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางจมูก)
๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางลิ้น)
๕. กายวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางกาย)
๖. มโนวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางใจ)

วิญญาณเป็นธรรมอาศัยกันเกิดขึ้น (วิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น)

(๓) ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่น วิญญาณเป็นสภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่วในที่นั้น ๆ นั่นเป็นวิญญาณ ผู้นั้นกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน

วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

วิญญาณอาศัยปัจจัยใด ๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้น ๆ

วิญญาณอาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ

วิญญาณอาศัยโสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ

วิญญาณอาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ

วิญญาณอาศัยชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าชิวหาวิญญาณ

วิญญาณอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้นก็ถึงความนับว่ากายวิญญาณ

วิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่ามโนวิญญาณ

เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใด ๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้น ๆ

ไฟอาศัยไม้ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟไม้
ไฟอาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟป่า
ไฟอาศัยหญ้าติดขึ้นก็ถึงความนับว่า ไฟหญ้า
ไฟอาศัยโคมัยติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟโคมัย
ไฟอาศัยแกลบติดขึ้นก็ถึงความนับว่า ไฟแกลบ
ไฟอาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหยากเยื่อ ฉันนั้น

(๔) วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย

(๕) เมื่อเธอถูกถามว่า นามรูปมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มีวิญญาณเป็นปัจจัย

เมื่อเธอถูกถามว่า วิญญาณมีสิ่งเป็นปัจจัยหรือ เธอพึงตอบว่า มีนามรูปเป็นปัจจัย

เพราะนามรูปเป็นปัจจัยดังนี้แล จึงเกิดวิญญาณ

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป

(๖) นามรูปเป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์

(๗) วิญญาณตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ 

นามรูปตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเองทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ นามรูปบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ ก็ไม่ใช่ แต่เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

ไม้อ้อ ๒ กำ พึงตั้งอยู่ได้เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกันฉันใด เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯลฯ

ถ้าไม้อ้อ ๒ กำนั้น พึงเอาออกเสียกำหนึ่ง อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ถ้าดึงอีกกำหนึ่งออก อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ฉันใด เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ฯลฯ


วิญญาณเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์

(๘) ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิดความปรากฏแห่งวิญญาณ นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ

ก็ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับความดับสูญแห่งวิญญาณ นี้เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นความสงบระงับแห่งโรค เป็นความดับสูญแห่งชราและมรณะ

ก็ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งจักขุวิญญาณ ฯลฯ แห่งโสตวิญญาณ ฯลฯ แห่งฆานวิญญาณ ฯลฯ แห่งชิวหาวิญญาณ ฯลฯแห่งกายวิญญาณ ฯลฯ แห่งมโนวิญญาณ นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ

ก็ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับ ความดับสูญแห่งจักขุวิญญาณ ฯลฯ แห่งโสตวิญญาณ ฯลฯ แห่งฆานวิญญาณ ฯลฯ แห่งชิวหาวิญญาณ ฯลฯแห่งกายวิญญาณ ฯลฯ แห่งมโนวิญญาณ นี้เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นความสงบระงับแห่งโรค เป็นความดับสูญแห่งชราและมรณะ

(๙) อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราถูกวิญญาณกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกวิญญาณกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกวิญญาณปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้

ก็เรานี้แล พึงชื่นชมวิญญาณอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึงถูกวิญญาณกิน เหมือนกับที่ถูกวิญญาณปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้

เธอพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมไม่มีความอาลัยในวิญญาณอดีต ย่อมไม่ชื่นชมวิญญาณอนาคต ย่อมปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณในปัจจุบัน


(๑๐) ปัญญาและวิญญาณ

ปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น

ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน ไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้ เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น วิญญาณรู้แจ้งสิ่งใด ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น ฉะนั้น ธรรม ๒ ประการนี้ จึงปะปนกัน ไม่แยกจากกัน

ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน แต่ปัญญาควรเจริญ วิญญาณควรกำหนดรู้


(๑๑) วิญญาณ เหตุเกิด ความดับ ทางให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ

เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับวิญญาณ และทางที่จะให้ถึงความดับวิญญาณ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้

ก็วิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับวิญญาณ ปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับวิญญาณเป็นไฉน

วิญญาณได้แก่ วิญญาณ ๖ หมวดเหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ

เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะสังขารเป็นเหตุให้เกิด ความดับวิญญาณ ย่อมมีเพราะสังขารดับ

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับวิญญาณ

เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับวิญญาณ ปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับวิญญาณ อย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันเทียว


ที่ตั้งและความดับแห่งวิญญาณ

(๑๒) ขันธ์ ๕

วิญญาณเข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่

วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์

วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์

ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติหรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี

วิญญาณอันไม่มีที่ตั้ง ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป

เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

(๑๓) อาหาร ๔

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬิงการาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในผัสสาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในผัสสาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในมโนสัญเจตนาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในมโนสัญเจตนาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น...

ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป

ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย

ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป

ในที่ใดมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป

ในที่ใดมีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุลี (คือราคะ) มีความคับแค้น

เปรียบเหมือนเมื่อมีน้ำย้อม ครั่ง ขมิ้น สีเขียวหรือสีบานเย็น ช่างย้อมหรือช่างเขียนพึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษให้มีอวัยวะน้อยใหญ่ได้ครบถ้วนที่แผ่นหินขาว แผ่นกระดาน ฝาผนัง หรือที่ผืนผ้า ฉันนั้น

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ในกวฬิงการาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในกวฬิงการาหารนั้น

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีในผัสสาหาร วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในผัสสาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีในมโนสัญเจตนาหาร วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในมโนสัญเจตนาหารนั้น...

ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น

ในที่ใดวิญญาณไม่ตั้งอยู่ไม่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป

ในที่ใดไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย

ในที่ใดไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้นย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป

ในที่ใดไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้นย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป

ในที่ใดไม่มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่าไม่มีความโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น

เปรียบเหมือนเรือนยอด (ปราสาท) หรือศาลามีสองยอด หน้าต่างด้านทิศตะวันออก อันบุคคลเปิดไปทางเหนือหรือทางใต้ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปแสงสว่างส่องเข้าไปทางหน้าต่าง จะพึงตั้งอยู่ที่ฝาด้านตะวันตก

ถ้าฝาด้านตะวันตกไม่มี แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ที่แผ่นดิน

ถ้าแผ่นดินไม่มี แสงสว่างนั้นจะพึงตั้งอยู่ที่น้ำ

ถ้าน้ำไม่มี แสงสว่างนั้นจะไม่ตั้งอยู่เลย ฉันนั้น


วิญญาณฐิติ (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ)

(๑๔) วิญญาณฐิติ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน

สัตว์บางพวกมีกายต่างกันมีสัญญาต่างกัน เหมือนมนุษย์ เทวดาบางพวก และวินิปาติกสัตว์บางพวก นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๑

สัตว์บางพวกมีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกันเหมือนเทวดาชั้นพรหมกายิกา ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๒

สัตว์บางพวกมีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน เหมือนเทวดาชั้นอาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๓

สัตว์บางพวกมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เหมือนเทวดาชั้นสุภกิณหะ นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๔

สัตว์บางพวกเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาเสียได้ ไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๕

สัตว์บางพวกเข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ โดยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๖

สัตว์บางพวกเข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ โดยมนสิการว่าไม่มีอะไร ๆ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติข้อที่ ๗


(๑๕) ความกำหนัดในวิญญาณ ๖ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฯลฯ ในฆานวิญญาณ ฯลฯ ในชิวหาวิญญาณ ฯลฯ ในกายวิญญาณ ฯลฯ ในมโนวิญญาณ นี้เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

เมื่อใดแล ภิกษุละอุปกิเลสแห่งจิตในฐานะ ๖ นี้ได้ เมื่อนั้น จิตของเธอย่อมเป็นจิตน้อมไปในเนกขัมมะ อันเนกขัมมะอบรมแล้ว ควรแก่การงาน ปรากฏในธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยอภิญญา


(๑๖) วิญญาณขันธ์ เป็นไฉน

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ วิญญาณอดีต วิญญาณอนาคต วิญญาณปัจจุบัน วิญญาณภายใน วิญญาณภายนอก วิญญาณหยาบ วิญญาณละเอียด วิญญาณทราม วิญญาณประณีต วิญญาณไกล วิญญาณใกล้ ประมวลย่อเข้าเป็นกองเดียวกัน นี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์

ในวิญญาณขันธ์นั้น วิญญาณอดีต เป็นไฉน

วิญญาณใดล่วงไปแล้ว ดับแล้ว ปราศไปแล้ว แปรไปแล้ว ถึงความดับแล้ว ถึงความดับสิ้นแล้ว ที่เกิดขึ้นแล้วปราศไปแล้ว ที่เป็นอดีต สงเคราะห์เข้ากับส่วนอดีต ได้แก่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณอดีต

วิญญาณอนาคต เป็นไฉน

วิญญาณใดยังไม่เกิด ยังไม่เป็น ยังไม่เกิดพร้อม ยังไม่บังเกิด ยังไม่บังเกิดยิ่ง ยังไม่ปรากฏ ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่เกิดขึ้นพร้อม ยังไม่ตั้งขึ้น ยังไม่ตั้งขึ้นพร้อม ที่เป็นอนาคต สงเคราะห์เข้ากับส่วนอนาคต ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณอนาคต

วิญญาณปัจจุบัน เป็นไฉน วิญญาณใดเกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดยิ่งแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ตั้งขึ้นแล้ว ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว ที่เป็นปัจจุบันสงเคราะห์ เข้ากับส่วนปัจจุบัน ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณปัจจุบัน

วิญญาณภายใน เป็นไฉน

วิญญาณใดของสัตว์นั้น ๆ เอง ซึ่งมีในตน เฉพาะตน เกิดในตน เฉพาะบุคคล อันกรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหาทิฐิยึดครอง ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่า วิญญาณภายใน

วิญญาณภายนอก เป็นไฉน

วิญญาณใดของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นนั้น ๆ ซึ่งมีในตน เฉพาะตน เกิดในตน เฉพาะบุคคล อันกรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหาทิฐิยึดครอง ได้แก่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณภายนอก 

วิญญาณหยาบ วิญญาณละเอียด เป็นไฉน

อกุศลวิญญาณเป็นวิญญาณหยาบ
กุศลวิญญาณและอัพยากตวิญญาณเป็นวิญญาณละเอียด

กุศลวิญญาณและอกุศลวิญญาณเป็นวิญญาณหยาบ
อัพยากตวิญญาณเป็นวิญญาณละเอียด

วิญญาณที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาเป็นวิญญาณหยาบ
วิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นวิญญาณละเอียด

วิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นวิญญาณหยาบ
วิญญาณที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนาเป็นวิญญาณละเอียด

วิญญาณของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นวิญญาณหยาบ
วิญญาณของผู้เข้าสมาบัติเป็นวิญญาณละเอียด

วิญญาณที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นวิญญาณหยาบ
วิญญาณที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นวิญญาณละเอียด

หรือพึงทราบวิญญาณหยาบวิญญาณละเอียด โดยอาศัยเทียบเคียงวิญญาณนั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป

วิญญาณทราม วิญญาณประณีต เป็นไฉน

อกุศลวิญญาณเป็นวิญญาณทราม
กุศลวิญญาณและอัพยากตวิญญาณเป็นวิญญาณประณีต

กุศลวิญญาณและอกุศลวิญญาณเป็นวิญญาณทราม
อัพยากตวิญญาณเป็นวิญญาณประณีต

วิญญาณที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาเป็นวิญญาณทราม
วิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นวิญญาณประณีต

วิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นวิญญาณทราม
วิญญาณที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนาเป็นวิญญาณประณีต

วิญญาณของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นวิญญาณทราม
วิญญาณของผู้เข้าสมาบัติเป็นวิญญาณประณีต

วิญญาณที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นวิญญาณทราม
วิญญาณที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นวิญญาณประณีต

หรือพึงทราบวิญญาณทราม วิญญาณประณีต โดยอาศัยเทียบเคียงวิญญาณนั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป

วิญญาณไกล เป็นไฉน

อกุศลวิญญาณเป็นวิญญาณไกลจากกุศลวิญญาณและอัพยากตวิญญาณ
กุศลวิญญาณและอัพยากตวิญญาณเป็นวิญญาณไกลจากอกุศลวิญญาณ

กุศลวิญญาณเป็นวิญญาณไกลจากอกุศลวิญญาณและอัพยากตวิญญาณ
อกุศลวิญญาณและอัพยากตวิญญาณเป็นวิญญาณไกลจากกุศลวิญญาณ

อัพยากตวิญญาณเป็นวิญญาณไกลจากกุศลวิญญาณและอกุศลวิญญาณ
กุศลวิญญาณและอกุศลวิญญาณเป็นวิญญาณไกลจากอัพยากตวิญญาณ

วิญญาณที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาเป็นวิญญาณไกลจากวิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
วิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นวิญญาณไกลจากวิญญาณที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา

วิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาเป็นวิญญาณไกลจากวิญญาณที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
วิญญาณที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นวิญญาณไกลจากวิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา

วิญญาณที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนาเป็นวิญญาณไกลจากวิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและทุกขเวทนา
วิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นวิญญาณไกลจากวิญญาณที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา

วิญญาณของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นวิญญาณไกลจากวิญญาณของผู้เข้าสมาบัติ
วิญญาณของผู้เข้าสมาบัติเป็นวิญญาณ ไกลจากวิญญาณของผู้ไม่เข้าสมาบัติ

วิญญาณที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นวิญญาณไกลจากวิญญาณที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
วิญญาณที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นวิญญาณไกลจากวิญญาณที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ

นี้เรียกว่าวิญญาณไกล

วิญญาณใกล้ เป็นไฉน

อกุศลวิญญาณเป็นวิญญาณใกล้กับอกุศลวิญญาณ
กุศลวิญญาณเป็นวิญญาณใกล้กับกุศลวิญญาณ
อัพยากตวิญญาณเป็นวิญญาณใกล้กับอัพยากตวิญญาณ

วิญญาณที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาเป็นวิญญาณใกล้กับวิญญาณที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา
วิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาเป็นวิญญาณใกล้กับวิญญาณที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา
วิญญาณที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนาเป็นวิญญาณใกล้กับวิญญาณที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา

วิญญาณของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นวิญญาณใกล้กับวิญญาณของผู้ไม่เข้าสมาบัติ
วิญญาณของผู้เข้าสมาบัติเป็นวิญญาณใกล้กับวิญญาณของผู้เข้าสมาบัติ

วิญญาณที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นวิญญาณใกล้กับวิญญาณที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
วิญญาณที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นวิญญาณใกล้กับวิญญาณที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ

นี้เรียกว่าวิญญาณใกล้ หรือพึงทราบวิญญาณไกล วิญญาณใกล้ โดยอาศัยเทียบเคียงวิญญาณนั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป


(๑๗) ลักษณะแห่งความเกิดขึ้น แปรไป ของวิญญาณ

วิญญาณที่เกิดแล้ว เป็นปัจจุบัน ลักษณะความบังเกิดแห่งวิญญาณนั้น ชื่อว่าความเกิดขึ้น ลักษณะความแปรผันไป (แห่งวิญญาณนั้น) ชื่อว่าความเสื่อม ปัญญาที่พิจารณาเห็นดังนี้ ชื่อว่าอนุปัสสนาญาณ

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

พระโยคาวจรย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณขันธ์ โดยความเกิดขึ้นแห่งปัจจัยว่า

๑. เพราะอวิชชาเกิด วิญญาณจึงเกิด
๒. เพราะตัณหาเกิด วิญญาณจึงเกิด
๓. เพราะกรรมเกิด วิญญาณจึงเกิด
๔. เพราะนามรูปเกิด วิญญาณจึงเกิด
๕. แม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความบังเกิด ก็ย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณขันธ์

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการนี้

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อม (แห่งวิญญาณขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

พระโยคาวจรย่อมเห็นความเสื่อมแห่งวิญญาณขันธ์ โดยความดับแห่งปัจจัยว่า

๑. เพราะอวิชชาดับ วิญญาณจึงดับ
๒. เพราะตัณหาดับ วิญญาณจึงดับ
๓. เพราะกรรมดับ วิญญาณจึงดับ
๔. เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ
๕. แม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความแปรผัน ก็ย่อมเห็นความเสื่อมแห่งวิญญาณขันธ์

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อมแห่งวิญญาณขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการนี้

เมื่อเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม (แห่งวิญญาณขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ ๑๐ ประการนี้


วิญญาณ ๕

(๑๘) (๑๙) วิญญาณ ๕ (จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ)

ไม่เป็นเหตุ
ไม่มีเหตุ
วิปปยุตจากเหตุ
มีปัจจัยปรุงแต่ง
ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
ไม่เป็นรูป
เป็นโลกิยะ
เป็นอารมณ์ของอาสวะ
เป็นอารมณ์ของสังโยชน์
เป็นอารมณ์ของคันถะ
เป็นอารมณ์ของโอฆะ
เป็นอารมณ์ของโยคะ
เป็นอารมณ์ของนิวรณ์
เป็นอารมณ์ของปรามาส
เป็นอารมณ์ของอุปาทาน
เป็นอารมณ์ของกิเลส
เป็นอัพยากฤต
รับรู้อารมณ์ได้
ไม่เป็นเจตสิก
เป็นวิบาก
กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ
และเป็นอารมณ์ของอุปาทาน
กิเลสไม่ทำให้เศร้าหมองแต่เป็นอารมณ์ของกิเลส
ไม่ใช่มีทั้งวิตกและวิจาร
ไม่ใช่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร
ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร
ไม่สหรคตด้วยปีติ
ไม่ต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรคและมรรคเบื้องบน ๓
ไม่มีเหตุต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรคและมรรคเบื้องบน ๓
ไม่เป็นเหตุให้ถึงปฏิสนธิ จุติ และนิพพาน
ไม่เป็นของเสขบุคคลและอเสขบุคคล
เป็นปริตตะ
เป็นกามาวจร
ไม่เป็นรูปาวจร
เป็นอรูปาวจร
นับเนื่องในวัฏฏทุกข์
ไม่ใช่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์
ให้ผลไม่แน่นอน
ไม่เป็นเหตุนำออกจากวัฏฏทุกข์
เป็นสภาวะที่เกิดขึ้น มโนวิญญาณรู้ได้ ไม่เที่ยง ถูกชราครอบงำ


การทำงานของวิญญาณ ๕

วิญญาณ ๕ มีวัตถุเกิดขึ้น มีอารมณ์เกิดขึ้น อธิบายว่า เมื่อวัตถุเกิดขึ้น เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น วิญญาณ ๕ ก็เกิดขึ้น

วิญญาณ ๕ มีวัตถุเกิดก่อน มีอารมณ์เกิดก่อน อธิบายว่า เมื่อวัตถุเกิดก่อน เมื่ออารมณ์เกิดก่อน วิญญาณ ๕ ก็เกิดขึ้น

วิญญาณ ๕ มีวัตถุเป็นภายใน มีอารมณ์เป็นภายนอก อธิบายว่า วัตถุของวิญญาณ ๕ เป็นภายใน อารมณ์ของวิญญาณ ๕ เป็นภายนอก

วิญญาณ ๕ มีวัตถุไม่แตกดับ มีอารมณ์ไม่แตกดับ อธิบายว่า เมื่อวัตถุยังไม่แตกดับ เมื่ออารมณ์ยังไม่แตกดับ วิญญาณ ๕ ก็เกิดขึ้น

วิญญาณ ๕ มีวัตถุต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน อธิบายว่า วัตถุและอารมณ์ของจักขุวิญญาณเป็นอย่างหนึ่ง วัตถุและอารมณ์ของโสตวิญญาณก็เป็นอย่างหนึ่ง วัตถุและอารมณ์ของฆานวิญญาณก็เป็นอย่างหนึ่ง วัตถุและอารมณ์ของชิวหาวิญญาณก็เป็นอย่างหนึ่ง วัตถุและอารมณ์ของกายวิญญาณก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

วิญญาณ ๕ ไม่เสวยอารมณ์ของกันและกัน อธิบายว่า โสตวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณก็ไม่เสวยอารมณ์ของโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณก็ไม่
เสวยอารมณ์ของฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณก็ไม่เสวยอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณก็ไม่เสวยอารมณ์ของกายวิญญาณ จักขุวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของโสตวิญญาณ ฯลฯ จักขุวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของฆานวิญญาณ ฯลฯ จักขุวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ ฯลฯ จักขุวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของกายวิญญาณ แม้กายวิญญาณก็ไม่เสวยอารมณ์ของจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของกายวิญญาณ แม้กายวิญญาณก็ไม่เสวยอารมณ์ของโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของกายวิญญาณ แม้กายวิญญาณก็ไม่เสวยอารมณ์ของฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณไม่เสวยอารมณ์ของกายวิญญาณ แม้กายวิญญาณก็ไม่เสวยอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ

วิญญาณ ๕ ไม่เกิดขึ้นเพราะไม่ใส่ใจ อธิบายว่า เมื่อใส่ใจอยู่ วิญญาณ ๕ ก็เกิดขึ้น

วิญญาณ ๕ ไม่เกิดขึ้นเพราะไม่มนสิการ อธิบายว่า เมื่อมนสิการอยู่ วิญญาณ ๕ ก็เกิดขึ้น

วิญญาณ ๕ ไม่เกิดขึ้นโดยไม่สับลำดับกัน อธิบายว่า วิญญาณ ๕ ไม่เกิดขึ้นตามลำดับของกันและกัน

วิญญาณ ๕ ไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน อธิบายว่า วิญญาณ ๕ ไม่เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน

วิญญาณ ๕ ไม่เกิดขึ้นในลำดับของกันและกัน อธิบายว่า โสตวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับที่จักขุวิญญาณเกิด แม้จักขุวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในลำดับที่โสตวิญญาณเกิด ฆานวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับที่จักขุวิญญาณเกิด แม้จักขุวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในลำดับที่ฆานวิญญาณเกิด ชิวหาวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับที่จักขุวิญญาณเกิด แม้จักขุวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในลำดับที่ชิวหาวิญญาณเกิด กายวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับที่จักขุวิญญาณเกิด แม้จักขุวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในลำดับที่กายวิญญาณเกิด จักขุวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับโสตวิญญาณเกิด ฯลฯ จักขุวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับที่ฆานวิญญาณเกิด ฯลฯ จักขุวิญญาณไม่เกิดในลำดับชิวหาวิญญาณเกิด ฯลฯ จักขุวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับที่กายวิญญาณเกิด แม้กายวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในลำดับที่จักขุวิญญาณเกิด โสตวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับที่กายวิญญาณเกิด แม้กายวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในลำดับโสตวิญญาณเกิด ฆานวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับที่กายวิญญาณเกิด แม้กายวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในลำดับที่ฆานวิญญาณเกิด ชิวหาวิญญาณไม่เกิดขึ้นในลำดับที่กายวิญญาณเกิด แม้กายวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในลำดับที่ชิวหาวิญญาณเกิด

วิญญาณ ๕ ไม่มีความผูกใจ อธิบายว่า ความนึก ความคิด ความพิจารณา หรือความทำไว้ในใจไม่มีแก่วิญญาณ ๕

บุคคลไม่รู้แจ้งธรรมอะไร ๆ ด้วยวิญญาณ ๕ เว้นแต่อารมณ์ที่ตกไป อธิบายว่า บุคคลไม่รู้แจ้งธรรมอะไรๆ ด้วยวิญญาณ ๕ เว้นแต่เพียงอารมณ์ที่มาปรากฏ

บุคคลไม่รู้แจ้งธรรมอะไร ๆ แม้ต่อจากลำดับแห่งวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่รู้แจ้งธรรมอะไร ๆ แม้ด้วยมโนธาตุในลำดับต่อจากวิญญาณ ๕

บุคคลไม่สำเร็จอิริยาบถอะไร ๆ ด้วยวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่สำเร็จอิริยาบถอะไร ๆ คือ การเดิน ยืน นั่ง หรือนอน ด้วยวิญญาณ ๕

บุคคลไม่สำเร็จอิริยาบถอะไร ๆ แม้ต่อจากลำดับแห่งวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่สำเร็จอิริยาบถอะไรๆ คือ การเดิน ยืน นั่ง หรือนอน แม้ด้วยมโนธาตุในลำดับต่อจากวิญญาณ ๕

บุคคลไม่ประกอบกายกรรมและวจีกรรมด้วยวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่ประกอบกายกรรม ไม่ประกอบวจีกรรมด้วยวิญญาณ ๕

บุคคลไม่ประกอบกายกรรมและวจีกรรมแม้ต่อจากลำดับแห่งวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่ประกอบกายกรรม ไม่ประกอบวจีกรรมแม้ด้วยมโนธาตุในลำดับต่อจากวิญญาณ ๕

บุคคลไม่สมาทานสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลด้วยวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่สมาทานสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลด้วยวิญญาณ ๕

บุคคลไม่สมาทานสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลแม้ต่อจากลำดับแห่งวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่สมาทานสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล แม้ด้วยมโนธาตุในลำดับต่อจากวิญญาณ ๕

บุคคลไม่ได้เข้าสมาบัติ ไม่ได้ออกจากสมบัติด้วยวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่ได้เข้าสมาบัติ ไม่ได้ออกจากสมาบัติด้วยวิญญาณ ๕

บุคคลไม่ได้เข้าสมาบัติ ไม่ได้ออกจากสมาบัติ แม้ต่อจากลำดับแห่งวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่ได้เข้าสมาบัติ ไม่ได้ออกจากสมาบัติแม้ด้วยมโนธาตุในลำดับต่อจากวิญญาณ ๕

บุคคลไม่จุติ ไม่ปฏิสนธิด้วยวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่จุติไม่ปฏิสนธิด้วยวิญญาณ ๕

บุคคลไม่จุติ ไม่ปฏิสนธิ แม้ต่อจากลำดับแห่งวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่จุติ ไม่ปฏิสนธิ แม้ด้วยมโนธาตุในลำดับต่อจากวิญญาณ ๕

บุคคลไม่หลับ ไม่ตื่น ไม่ฝัน ด้วยวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่หลับ ไม่ตื่น ไม่ฝันด้วยวิญญาณ ๕

บุคคลไม่หลับ ไม่ตื่น ไม่ฝัน แม้ต่อจากลำดับแห่งวิญญาณ ๕ อธิบายว่า บุคคลไม่หลับ ไม่ตื่น ไม่ฝันแม้ด้วยมโนธาตุในลำดับต่อจากวิญญาณ ๕

ปัญญาแสดงเรื่องของวิญญาณ ๕ ตามที่เป็นจริง ญาณวัตถุหมวดละ ๑ มีด้วยประการฉะนี้

 

 

 

อ้างอิง:
(๑) ขัชชนิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๕๙ หน้า ๘๗
(๒) วิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๕ หน้า ๓
(๓) มหาตัณหาสังขยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๔๒
(๔) อุปนิสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๖๙ หน้า ๒๙
(๕) มหานิทานสูตร พระไตรปิฎก​ ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๕๗
(๖) มหาปุณมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๒๔ หน้า ๗๙
(๗) นฬกลาปิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๒๖๕-๒๖๖ หน้า ๑๑๐-๑๑๑
(๘) ขันธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๙๗-๔๙๘ หน้า ๒๕๖-๒๕๗
     วิญญาณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๘๓-๔๘๔ หน้า ๒๕๓
(๙) ขัชชนิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๖๐ หน้า ๘๗
(๑๐) มหาเวทัลลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๙๔ หน้า ๓๘๐
(๑๑) สัมมาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๒๖ หน้า ๗๐
(๑๒) อุปายสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๐๕ หน้า
(๑๓) อัตถิราคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๒๔๕-๒๔๙ หน้า ๙๙-๑๐๒
(๑๔) จิตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๔๑
(๑๕) วิญญาณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๕๐๑ หน้า ๒๕๙
(๑๖) ขันธวิภังค์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๒๖-๓๒ หน้า ๑๑-๑
(๑๗) อุทยัพพยญาณนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๔๙
(๑๘) ญาณวิภังค์ วิภังคปกรณ์ พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๗๕๑
(๑๙) เอกกนิทเทส วิภังคปกรณ์ พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๗๖๑
 
 
 
 

คำต่อไป