Main navigation
วิจิกิจฉา
Share:

วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เป็นหนึ่งสังโยชน์ ๓ และนิวรณ์ ๕

(๑) วิจิกิจฉานิวรณ์ กระทำให้มืด กระทำไม่ให้มีจักษุ กระทำไม่ให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

(๒) วิจิกิจฉา เป็นธรรมเครื่องกั้น เป็นธรรมเครื่องห้าม ครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทราม

(๓) วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของจิต เป็นเครื่องทำจิตไม่ให้นิ่มนวล ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้ผุดผ่อง ให้เสียไป และไม่ให้ตั้งมั่นด้วยดีเพื่อความสิ้นอาสวะ

(๔)  วิจิกิจฉา เป็นไฉน

ปุถุชนเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในส่วนอดีต ในส่วนอนาคต ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ในปฏิจจสมุปปาทธรรมที่ว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น

การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ความคิดเห็นไปต่างๆ นานา ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็นสองแง่ ความเห็นเหมือนทางแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป ความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาเป็นยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ อันใด นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา.

(๕)  สมัยใด บุคคลมีใจอันวิจิกิจฉากลุ้มรุม อันวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัด ตามเป็นจริงซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว

สมัยนั้น บุคคลย่อมไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการสาธยาย

สมัยใด บุคคลมีใจอันวิจิกิจฉาไม่กลุ้มรุม อันวิจิกิจฉาไม่ครอบงำอยู่ และย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว

สมัยนั้น บุคคลย่อมรู้ย่อมเห็นตามเป็นจริงแม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์ที่ไม่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย

(๖) เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนการใส่ใจโดยไม่แยบคาย

เมื่อบุคคลใส่ใจโดยไม่แยบคาย วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์

เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ เหมือนการใส่ใจโดยแยบคาย

เมื่อบุคคลใส่ใจโดยแยบคาย วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ 

(๗)  ลูกศรความสงสัยเป็นไฉน

ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยในทุกขสมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ความสงสัยในส่วนเบื้องต้น ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยในส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น คือความที่ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชานี้เป็นปัจจัย

ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ความเป็นผู้สงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเล ความเป็นสองทาง ความไม่แน่ใจ ความไม่แน่นอน ความไม่ตกลงใจ ความไม่อาจตัดสิน ความไม่กำหนดถือเอาได้ ความที่จิตหวั่นไหวอยู่ ความติดขัดในใจ นี้ชื่อว่าลูกศรความสงสัย.

สัตว์อันลูกศรความสงสัยปักติดแล้ว เป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย เคลือบแคลงเป็นสองทางว่า (ความสงสัย ๑๖ อย่าง คือ อดีตกาล ๕ อนาคตกาล ๕ ปัจจุบันกาล ๖ เรียกว่าโสฬสกังขา ฯ)  

ในอดีตกาล เราได้เป็นแล้วหรือหนอ หรือเราไม่ได้เป็นแล้ว เราได้เป็นอะไรแล้วหรือหนอ เราได้เป็นแล้วอย่างไรหนอ เราได้เป็นอะไรมาแล้วจึงเป็นอะไรต่อมาหนอ

ในอนาคตกาล เราจักเป็นหรือหนอ หรือเราจักไม่เป็น เราจักเป็นอะไรหรือหนอ เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้ว จึงจักเป็นอะไรต่อไปอีกหนอ.

ในปัจจุบันกาลบัดนี้ ก็มีความสงสัยอยู่ ณ ภายในว่า เราย่อมเป็นหรือหนอ หรือเราย่อมไม่เป็น เราย่อมเป็นอะไรหรือหนอ เราย่อมเป็นอย่างไรหนอ เราเป็นสัตว์มาแต่ไหนหนอ เราจักเป็นสัตว์ไปเกิดที่ไหนหนอ.

สัตว์อันลูกศรความสงสัยปักติดแล้ว ย่อมแล่น แล่นพล่าน วนเวียน ท่องเที่ยวไปอย่างนี้.

สัตว์นั้นย่อมปรุงแต่งให้ลูกศรเหล่านั้นเกิด เมื่อปรุงแต่งให้ลูกศรเหล่านั้นเกิด ก็แล่นไปสู่ทิศตะวันออก แล่นไปสู่ทิศตะวันตก แล่นไปสู่ทิศเหนือ แล่นไปสู่ทิศใต้ ด้วยสามารถแห่งการปรุงแต่งให้ลูกศรเกิด.

สัตว์เป็นผู้ละอภิสังขารคือลูกศรเหล่านั้นไม่ได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารคือลูกศรไม่ได้ จึงแล่นไปในคติ แล่นไปในนรก แล่นไปในดิรัจฉานกำเนิด แล่นไปในเปรตวิสัย แล่นไปในมนุษยโลก แล่นไปในเทวโลก

ย่อมแล่น แล่นพล่าน วนเวียน ท่องเที่ยวไปจากคตินี้สู่คติโน้น จากอุปบัตินี้สู่อุปบัติโน้น จากปฏิสนธินี้สู่ปฏิสนธิโน้น จากภพนี้สู่ภพโน้น จากสงสารนี้สู่สงสารโน้น จากวัฏฏะนี้สู่วัฏฏะโน้น

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าสัตว์อันลูกศรใดปักติดแล้วย่อมแล่นพล่านไป สู่ทิศทั้งปวง.

(๘) พระอรหันต์อาจสงสัยในนามและโคตรของสตรีและบุรุษ อาจสงสัยในชื่อของหญ้า ไม้ และต้นไม้เจ้าป่าก็ได้

พระอรหันต์จะไม่สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในส่วนอดีต ในส่วนอนาคต ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ในปฏิจจสมุปปาทธรรมที่ว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น ในโสดาปัตติผล หรือในสกทาคามิผล หรือในอนาคามิผล หรือในอรหัตผล

(๙) พระโยคาวจรย่อมทำวิจิกิจฉาให้ดับ ด้วยการกำหนดธรรม

 

 

อ้างอิง:
(๑) นีวรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๐๑
(๒) รุกขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๙๙
     อาวรณานีวรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๙๐
(๓) อุปกิเลสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๗๖
(๔) นีวรณโคจฉกะ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๗๕๓ หน้า ๒๖๒-๒๖๓ และข้อที่ ๖๗๒ หน้า ๒๓๓-๒๓๔
(๕) สังคารวสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๙๓ หน้า ๒๐๘, ๒๐๙-๒๑๐
(๗) มหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๘๐๙-๘๑๐ หน้า ๓๙๔, ๓๙๗-๓๙๘
(๘) กังขากถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๗ ข้อที่ ๕๒๒-๕๔๖ หน้า ๒๔๔-๒๕๓
(๙) ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๒๒๙
 
 

คำต่อไป