จิตที่นำความสุขมาให้
ภิกษุ ๖๐ รูป ทำกติกากันเพื่อประพฤติโดยความประมาท โดยไม่ควรยืน ไม่ควรนั่งในที่แห่งเดียวกัน ๒ รูป จะรวมกันในกาลเป็นที่บำรุงพระเถระในเวลาเย็นและในกาลเป็นที่ภิกษาจารในเวลาเช้าเท่านั้น ในกาลที่เหลือจักไม่อยู่รวมกัน ๒ รูป เมื่อภิกษุใดเจ็บป่วยมาตีระฆังในวิหาร ภิกษุรูปอื่นจะมาตามสัญญาระฆังเพื่อทำยาถวายแก่ภิกษุนั้น
วันหนึ่ง อุบาสิกาเห็นว่าภิกษุต่างเดินมาจากที่ต่าง ๆ กัน ทีละรูป ไม่อยู่ร่วมกัน จึงได้ถามเหตุผล และเมื่อรู้ว่าภิกษุเหล่านั้นทำสมณธรรมโดยทำการสาธยายอาการ ๓๒ และการเริ่มตั้งซึ่งความสิ้นและความเสื่อมในอัตภาพอยู่ จึงได้ขอเรียนอาการ ๓๒ อุบาสิกานั้นได้ทำการสาธยายซึ่งอาการ ๓๒ และเริ่มตั้งไว้ซึ่งความสิ้นไปและความเสื่อมไปในตน บรรลุมรรค ๓ ผล ๓ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ และโลกิยอภิญญาก่อนภิกษุเหล่านั้น
เมื่อนางออกจากสุขอันเกิดแต่มรรคและผลแล้ว ได้ตรวจดูด้วยทิพยจักษุพบว่าภิกษุเหล่านั้นมีคุณธรรมและอุปนิสัยแห่งพระอรหัต จึงได้จัดเสนาสนะ อาหารอันเป็นที่สบายแก่ภิกษุ เหล่าภิกษุนั้นจิตก็เป็นธรรมชาติ มีอารมณ์เดียว แน่วแน่ เจริญวิปัสสนา ไม่นานนัก ภิกษุ ๖๐ รูปบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
ภิกษุได้อำลามหาอุบาสิกาไปเฝ้าพระศาสดา และได้เล่าเรื่องและกล่าวสรรเสริญคุณของมหาอุบาสิกา มีภิกษุรูปหนึ่งได้ยินถ้อยคำสรรเสริญคุณของมหาอุบาสิกา จึงได้ไปยังบ้านของอุบาสิกา เมื่อภิกษุคิดต้องการอะไร อุบาสิกาได้ทำให้ทุกอย่าง ภิกษุนั้นคิดว่าธรรมดาปุถุชนย่อมคิดสิ่งที่ดีบ้าง ชั่วบ้าง ถ้าตนคิดสิ่งอันไม่สมควร อุบาสิกาก็จะพึงตำหนิ ทำให้ละอาย จึงขอลากลับไปสู่สำนักพระศาสดา
เมื่อกลับไปพบพระศาสดา พระศาสดาทรงบอกว่าสถานที่นั้นควรอยู่ ให้กลับไป โดยให้รักษาจิตอย่างเดียว ธรรมดาจิตนี้บุคคลรักษาได้ยาก จงข่มจิตไว้ให้ได้ อย่าคิดถึงอารมณ์ อะไร ๆ อย่างอื่น
แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
การฝึกจิตอันข่มได้ยาก เป็นธรรมชาติเร็ว มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ เป็นการดี เพราะว่าจิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้
ในกาลจบเทศนา บริษัทที่มาประชุมกันเป็นอันมาก ได้เป็นอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น
ภิกษุนั้นจึงกลับไปสู่มาติกคามอีก ไม่ได้คิดอะไร ๆ ที่ชวนให้คิดภายนอกเลย อุบาสิกาได้ตรวจดูด้วยทิพยจักษุ และรู้ด้วยญาณว่าภิกษุได้อาจารย์ให้โอวาทแล้ว จึงกลับมาอีก ได้จัดแจงอาหารอันเป็นที่สบายถวายแก่พระเถระ โดย ๒-๓ วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัต
ภิกษุได้ตามระลึกชาติในอดีตถอยหลังไป ๙๙ ชาติ ได้เห็นว่า มหาอุบาสิกานั้นเคยเป็นภรรยาของท่านมา ๙๙ ชาติ นางมีจิตปฏิพัทธ์ในชายอื่น ได้ฆ่าท่านเสียถึง ๙๙ ชาติมาแล้ว จึงปลงธรรมสังเวชว่านางได้ทำกรรมหนักมาแล้ว แต่อุบาสิกาได้รู้เหตุจึงพิจารณาขึ้นไปถึงชาติที่ ๑๐๐ ได้เห็นว่าในชาตินั้น ตนได้สละชีวิตเพื่อภิกษุนั้น จึงส่งกระแสจิตไปยังภิกษุนั้น เตือนให้พิจารณาต่อไปถึงชาติที่ ๑๐๐ เมื่อภิกษุได้เห็นความที่อุบาสิกานั้นได้ให้ชีวิตแก่ตนในชาตินั้นแล้ว มีใจเบิกบาน กล่าวปัญหาในมรรค ๔ ผล ๔ แก่อุบาสิกานั้น และปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นั้น
อ่าน คาถาธรรมบท จิตตวรรค
อ่าน ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง