ผู้เพลิดเพลินในโลกทั้งสอง
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ตั้งธิดาคนโตชื่อมหาสุภัททาเพื่อทำหน้าที่อังคาสภิกษุทั้งหลายผู้มาฉันในเรือน นางมหาสุภัททาทำการขวนขวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ฟังธรรมอยู่ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ต่อมาได้ไปสู่สกุลแห่งสามี
ท่านอนาถบิณฑิกะก็ตั้งนางจุลลสุภัททาแทน แม้นางจุลสุภัททานั้นก็ทำอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ต่อมาก็ไปสู่สกุลแห่งสามี
ท่านอนาถบิณฑิกะจึงตั้งธิดาคนเล็กนามว่า สุมนาเทวี ทำหน้าที่แทน นางสุมนาเทวีฟังธรรมแล้ว บรรลุสกทาคามิผล แม้นางยังเป็นสาวรุ่นอยู่แต่ได้เจ็บป่วยหนัก ไม่สามารถกินอาหารได้ นางมีความประสงค์จะพบบิดา จึงให้เชิญมา เมื่อพบบิดานางได้เรียกบิดาว่าน้องชายและได้เสียชีวิต ท่านเศรษฐีนั้น แม้เป็นพระโสดาบัน ก็ไม่สามารถจะกลั้นความโศกได้ ร้องไห้ ไปทูลพระศาสดา
พระพุทธเจ้าได้ทรงถามว่าทำไมท่านจึงโศก ความตาย ย่อมเป็นไปโดยส่วนเดียวแก่สรรพสัตว์มิใช่หรือ อนาถบิณฑิกะเศรษฐีกล่าวว่าทราบข้อนั้น ที่เสียใจเพราะธิดาของตนถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ แต่ในเวลาจวนตาย นางไม่สามารถคุมสติไว้ได้เลย บ่นเพ้อ เรียกท่านเศรษฐีว่าน้องชายแล้วเสียชีวิต
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับเศรษฐีว่นางสุมนาเทวีไม่ได้เพ้อ แต่เพราะนางเป็นใหญ่กว่าท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีโดยมรรคและผล ท่านอนาถบิณฑิกะเป็นเพียงโสดาบัน ส่วนนางสุมนาเทวีเป็นสกทาคามินี ท่านอนาถบิณฑิกะเป็นน้องนางสุมนาเทวีจริงๆ และทรงบอกว่าเวลานี้นางเกิดในภพดุสิต
อนาถบิณฑิกเศรษฐีกล่าวว่าธิดาของท่านเที่ยวเพลิดเพลินอยู่ในหมู่ญาติในโลกนี้ แม้ไปจากโลกนี้แล้ว ก็เกิดในที่ ๆ เพลิดเพลินเหมือนกันหรือ
พระศาสดาตรัสกะเศรษฐีนั้นว่า ธรรมดาผู้ไม่ประมาท เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้และโลกหน้าแท้
แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
ผู้มีบุญอันทำไว้แล้ว ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน เขาย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง เขาย่อมเพลิดเพลินว่า เราทำบุญไว้แล้ว ไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินยิ่งขึ้น
ในกาลจบคาถา คนเป็นอันมากได้เป็นอริยบุคคล มีโสดาบันเป็นต้น
อ่าน นางสุมนาเทวี
อ่าน คาถาธรรมบท ยมกวรรค