ผู้ตื่นอยู่
ในพระนครราชคฤห์ มีเด็กสองคน คนหนึ่งเป็นบุตรของผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ อีกคนหนึ่งเป็นบุตรของผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เด็กทั้งสองเล่นขลุบด้วยกันเสมอ ๆ เด็กคนแรกเมื่อจะทอดขลุบก็ระลึกถึงพุทธานุสสติ กล่าวว่า "นโม พุทฺธสฺส" แล้วจึงทอดขลุบ ส่วนเด็กอีกคนระลึกถึงคุณของพวกเดียรถีย์ กล่าวว่า "นโม อรหนฺตานํ" แล้วจึงทอด เด็กคนแรกชนะอยู่เนือง ๆ เด็กคนที่สองคิดว่าเพื่อนระลึกถึงพุทธานุสสติ จึงชนะ ก็จักทำอย่างนั้นบ้าง เด็กนั้นได้สั่งสมพุทธานุสสติแล้ว
วันหนึ่ง นายสากฏิกะ บิดาของเด็กคนแรก เทียมเกวียนไปหาไม้ในป่า ได้พาบุตรไปด้วย เมื่อได้ไม้ตามต้องการแล้ว ขับเกวียนกลับมาหยุดพักอยู่ที่ใกล้ประตูเมือง เขาปล่อยโคให้ไปกินน้ำ โคของเขาได้เดินตามหมู่โคอื่นเข้าไปในเมือง นายสากฏิกะตามไปพบโคในเมือง จึงจูงโคกลับออกไปเพื่อรับบุตร แต่ประตูเมืองปิดเสียก่อน บุตรของเขาต้องอยู่ผู้เดียวนอกเมืองและได้นอนหลับอยู่ในเกวียน
พวกอมนุษย์สองตนอยู่บริเวณนั้น เห็นเด็กน้อยนอนอยู่คนเดียว อมนุษย์ตนหนึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ อีกตนหนึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ อมนุษย์ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจะกินเด็กคนนี้ แต่อมนุษย์ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิได้ห้ามไว้ แต่ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เชื่อคำห้ามนั้น จับเท้าเด็กแล้วคร่ามา ขณะนั้นเด็กน้อยรู้สึกตัว กล่าวขึ้นว่า "นโม พุทฺธสฺส" เพราะความที่ตนเป็นผู้สั่งสมในพุทธานุสสติ เมื่ออมนุษย์ได้ยินเสียงนั้นเกิดความกลัว จึงถอยออกไป
อมนุษย์ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิได้กล่าวกับอมนุษย์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิว่า พวกเราทำสิ่งอันไม่ควรทำเสียแล้ว พวกเราจงทำทัณฑกรรมเพื่อเด็กนั้น และได้ยืนรักษาเด็กนั้น ส่วนอมนุษย์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเข้าไปสู่พระนคร นำอาหารที่มีรสเลิศพร้อมถาดทองคำของพระราชามา
อมนุษย์ทั้งสองตนนั้นอารักขาเด็กอยู่ประดุจมารดาและบิดา ปลุกให้เด็กตื่น ให้บริโภคโภชนะ แล้วจารึกอักษรที่ถาดด้วยอานุภาพของยักษ์ และอธิษฐานให้พระราชาเท่านั้นเห็นอักษรเหล่านี้ คนอื่นอย่าเห็น แล้วจึงไป
ในวันรุ่งขึ้น พวกราชบุรุษต่างเที่ยวตามหาถาดทองคำของพระราชา ไปเห็นถาดทองคำบนเกวียนที่เด็กนอนอยู่ จึงจับตัวเด็กนั้นไปถวายแด่พระราชา พระราชาทอดพระเนตรเห็นอักษรทั้งหลายบนถาดทองคำ ได้สอบถามเด็ก เด็กตอบว่าไม่ทราบ เมื่อคืนนี้มีมารดาบิดาเอามาให้บริโภค แล้วได้ยืนรักษาอยู่ เด็กจึงไม่กลัว แล้วหลับไป
ขณะนั้น มารดาและบิดาของเด็กทราบว่าลูกของตนถูกราชบุรุษจับไป จึงตามไปยังราชสำนัก ทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ พระราชาทรงทราบความเป็นไปนั้นแล้ว ทรงพาชนทั้งสามไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลความเป็นไปทั้งปวง แล้วทูลถามว่า
พุทธานุสสติเท่านั้นย่อมเป็นคุณชาติเครื่องรักษาหรือ หรือว่าอนุสสติอื่น มีธัมมานุสสติ เป็นต้น ก็เป็นคุณชาติเครื่องรักษา
พระศาสดาตรัสว่า
พุทธานุสสติเป็นคุณชาติเครื่องรักษาอย่างเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ ก็จิตอันชนเหล่าใดอบรมดีแล้วโดยฐานะ ๖ กิจด้วยเครื่องรักษาและป้องกันอย่างอื่น หรือด้วยมนต์และโอสถ ย่อมไม่มีแก่ชนเหล่านั้น
ดังนี้แล้ว ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
สติของชนเหล่าใด ไปแล้วในพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นเป็นสาวกของพระโคดม ตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ
สติของชนเหล่าใด ไปแล้วในพระธรรมเป็นนิตย์ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นเป็นสาวกของพระโคดมตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ
สติของชนเหล่าใด ไปแล้วในพระสงฆ์เป็นนิตย์ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นเป็นสาวกของพระโคดม ตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ
สติของชนเหล่าใด ไปแล้วในกายเป็นนิตย์ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นเป็นสาวกของพระโคดม ตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ
ใจของชนเหล่าใด ยินดีแล้วในอันไม่เบียดเบียน ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้น เป็นสาวกของพระโคดม ตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ
ใจของชนเหล่าใด ยินดีแล้วในภาวนา ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นเป็นสาวกของพระโคดม ตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ
ในกาลจบเทศนา เด็กนั้นพร้อมด้วยมารดาและบิดาก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
ครั้นภายหลัง ชนทั้งสามได้บวชแล้ว บรรลุพระอรหัต
อ่าน นายทารุสากฏิกะ
อ่าน คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรค