Main navigation

ความโศกเกิดจากสิ่งที่รัก

เหตุการณ์
พระศาสดาเสด็จไประงับความโศกของกุฎุมพีคนหนึ่ง และตรัสเล่า อุรคชาดก ว่าด้วย เปรียบความตายเหมือนงูลอกคราบ

กุฎุมพีคนหนึ่ง เมื่อบุตรของตนเสียชีวิตแล้ว เศร้าโศกร้องไห้ไม่อาจที่จะหักห้ามความโศกถึงบุตรได้ พระศาสดาทรงพิจารณาดูสัตว์โลก ทรงเห็นอุปนิสัยโสดาปัตติมรรคของกุฎุมพีนั้น ได้ทรงพาภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะรูปหนึ่ง เสด็จไปประตูเรือนของกุฎุมพี กุฎุมพีได้อัญเชิญพระศาสดาให้เสด็จไปสู่เรือน
 
พระศาสดาตรัสถามกุฎุมพีทุกข์เพราะเหตุอะไร เมื่อกุฎุมพีกราบทูลทุกข์เพราะพลัดพรากจากบุตรแล้ว ตรัสว่า
 
ชื่อว่าความตายนี้มิใช่มีอยู่ในที่เดียว และมิใช่มีจำเพาะแก่บุคคลผู้เดียว ก็ชื่อว่าความเป็นไปแห่งภพ ยังมีอยู่เพียงใด ความตายก็ย่อมมีแก่สรรพสัตว์เพียงนั้นเหมือนกัน แม้สังขารอันหนึ่ง ที่ชื่อว่าเที่ยงย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น ท่านพึงพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายว่า
                        
ธรรมชาติมีความตายเป็นธรรมดา ตายเสียแล้ว
ธรรมชาติมีความแตกเป็นธรรมดา แตกเสียแล้ว
 
ไม่พึงเศร้าโศก เพราะว่าโบราณบัณฑิตทั้งหลายในเวลาที่ลูกรักตายแล้ว พิจารณาว่า ธรรมชาติมีความตายเป็นธรรมดา ตายเสียแล้ว ธรรมชาติมีความแตกเป็นธรรมดา แตกเสียแล้ว ดังนี้แล้ว ไม่ทำความเศร้าโศก เจริญมรณัสสติอย่างเดียว
 
กุฎุมพีทูลถามว่าบัณฑิตพวกไหนได้ทำแล้วอย่างนั้น และได้ทำในกาลใด
 
เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงทรงนำอดีตนิทานมาสาธก มีเนื้อความดังนี้
 
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์ สั่งสมทรัพย์สมบัติไว้เลี้ยงชีพด้วยกสิกรรม พระโพธิสัตว์มีบุตร ๒ คน คือ ชาย ๑ หญิง ๑  เมื่อบุตรชายเจริญวัยแล้ว ได้แต่งงานกับหญิงที่สกุลเสมอกัน ชนเหล่านั้นและทาสีเป็นผู้สมัครสมานยินดี อยู่กันด้วยความรัก พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่คนทั้ง ๕ ว่า
 
ท่านทั้งหลายจงให้ทานโดยนิยามตามทำนองที่หาได้เท่านั้น จงรักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม เจริญมรณัสสติ จงกำหนดถึงภาวะคือความตายของท่านทั้งหลาย เพราะความตายของสัตว์เหล่านี้ เป็นของยั่งยืน ชีวิตไม่ยั่งยืน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมเทียว ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาททั้งกลางคืน และกลางวันเถิด
 
อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ไปนาพร้อมกับบุตรชาย พระโพธิสัตว์ไถนา บุตรลากขยะมาเผา ควันไฟได้ไปกระทบตาของอสรพิษ มันโกรธ จึงกัดบุตรชาย เขาล้มลงตายทันที พระโพธิสัตว์เหลียวมาดูเห็นบุตรชายนั้นล้มลง จึงหยุดโคแล้วเข้าไปดู รู้ว่าบุตรชายตายแล้ว จึงยกบุตรขึ้น ให้นอนอยู่ที่โคนไม้ คลุมไว้ด้วยผ้า ไม่ร้องไห้ ไม่ปริเทวนาการร่ำไร ไถนาไปพลาง กำหนดถึงเฉพาะความเป็นอนิจจังว่า
 
ก็สิ่งที่มีการแตกเป็นธรรมดา แตกไปแล้ว สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ตายไปแล้ว สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สำเร็จด้วยความตาย
 
พระโพธิสัตว์เห็นบุรุษผู้คุ้นเคยกันคนหนึ่งเดินมาใกล้ ๆ จึงขอให้ช่วยแวะไปยังเรือนของท่าน บอกกะนางพราหมณีว่าวันนี้ไม่ต้องนำอาหารมาให้คนสองคนเหมือนดังก่อน ให้นำอาหารมาสำหรับคนผู้เดียวเท่านั้น และเมื่อก่อนทาสีผู้เดียวเท่านั้นนำอาหารมา แต่วันนี้ให้คนทั้ง ๔ นุ่งห่มผ้าขาว ถือของหอมและดอกไม้มา
 
เมื่อบุรุษไปบอกแก่นางพราหมณี นางพราหมณีนั้นรู้ได้ว่า บุตรชายตายแล้ว แม้ความโศกเศร้าก็ไม่ได้มีแก่นางพราหมณ์นั้น ก็นางเป็นผู้อบรมจิตไว้ดีแล้ว นางนุ่งห่มผ้าขาว ถือของหอมและดอกไม้ ถืออาหาร แล้วได้ไปพร้อมกับคนที่เหลือ ไม่มีใครร้องไห้หรือมีความร่ำไร

พระโพธิสัตว์นั่งในร่มเงาที่บุตรชายนอนอยู่ บริโภคอาหาร เมื่อบริโภคอาหารเสร็จ คนทั้งหมดก็ช่วยกันขนฟืนมา ยกบุตรชายขึ้นสู่เชิงตะกอน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ แล้วเผา น้ำตาแม้หยดเดียวก็ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ทั้งหมดเป็นผู้เจริญมรณัสสติไว้ดีแล้ว
 
ด้วยเดชแห่งศีลของชนเหล่านั้น ภพแห่งท้าวสักกะเกิดอาการร้อน ท้าวสักกะนั้นเมื่อทราบว่าภพร้อนเพราะเดชแห่งคุณของชนเหล่านั้น ทรงมีพระมนัสเลื่อมใส จึงเสด็จไปประทับยืนอยู่ที่ข้างป่าช้า ตรัสถามชาวบ้านว่าทำอะไร เมื่อชาวบ้านบอกว่าเผามนุษย์ ท้าวสักกะจึงถามว่าเขาคงจะเป็นมนุษย์ที่มีเวรกัน พระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะท้าวสักกะว่า เขาเป็นบุตร ไม่ใช่คนมีเวรกัน และเป็นบุตรที่รักยิ่ง

ท้าวสักกะจึงถามว่าทำไมไม่ร้องไห้
 
พระโพธิสัตว์นั้น จึงบอกถึงเหตุที่ไม่ร้องไห้ว่า
 
บุตรละทิ้งร่างกายของตนไป ดุจงูละทิ้งคราบเก่า เมื่อร่างกายแห่งบุตรใช้อะไรไม่ได้ ทำกาละไปแล้วอย่างนี้ บุตรถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของหมู่ญาติ เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติของเขามีอย่างใด เขาก็ย่อมไปสู่คติของตนอย่างนั้น
 
ท้าวสักกะจึงตรัสถามนางพราหมณีว่า บิดาไม่ร้องไห้ เพราะเป็นบุรุษก็ยกไว้ ส่วนหทัยของมารดาอ่อนโยน เพราะเหตุไร แม่จึงไม่ร้องไห้ นางพราหมณีนั้น จึงบอกถึงเหตุที่ไม่ร้องไห้ว่า
 
บุตรนี้มิได้เชื้อเชิญให้เขามาจากปรโลก เขาก็มาเอง แม้เมื่อจะไปจากมนุษยโลกนี้ ก็มิได้อนุญาตให้เขาไป เขามาอย่างใด เขาก็ไปอย่างนั้น การปริเทวนาถึงในการที่บุตรไปจากมนุษยโลกนั้น จะเกิดประโยชน์อะไร บุตรถูกเผาอยู่ก็ไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของพวกญาติ เพราะฉะนั้น นางจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติของเขามีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น
 
ท้าวสักกะได้ถามน้องสาวว่าทำไมจึงไม่ร้องไห้ น้องสาวจึงบอกถึงเหตุที่ไม่ร้องไห้ว่า
 
เมื่อพี่ชายตายแล้ว หากว่านางจะพึงร้องไห้ ก็จะผ่ายผอม เมื่อร้องไห้อยู่ จะมีผลอะไร ความไม่ยินดีก็จะพึงมีแก่ญาติ มิตร และสหายของนางยิ่งขึ้น พี่ชายถูกเผาอยู่ ก็ไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น นางจึงไม่เศร้าโศกถึงพี่ชายนั้น คติของเขามีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น.
 
ท้าวสักกะได้ตรัสถามภรรยาของบุตรที่ตายว่า ทำไมจึงไม่ร้องไห้ ภรรยาจึงบอกถึงเหตุที่ไม่ร้องไห้ว่า
 
เด็กร้องไห้ขอพระจันทร์อันโคจรอยู่ในอากาศฉันใด การที่บุคคลมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ละไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น สามีของนางถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้นนางจึงไม่เศร้าโศกถึงสามีนั้น คติของเชามีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น.
 
ท้าวสักกะได้ตรัสถามทาสีทำไมจึงไม่ร้องไห้ ทาสีจึงบอกถึงเหตุที่ไม่ร้องไห้แก้ท้าวสักกะว่า
 
หม้อน้ำที่แตกแล้ว เชื่อมให้สนิทอีกไม่ได้ ฉันใด การที่บุคคลเศร้าโศกถึงผู้ที่ละไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น นายของนางถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น นางจึงไม่เศร้าโศกถึงนายนั้น คติของตนมีอย่างใด นายของนางก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น
 
เมื่อท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของคนทั้งหมดแล้ว ทรงเลื่อมใสตรัสว่า

ท่านทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาทเจริญมรณัสสติแล้ว แต่นี้ไป ท่านทั้งหลายไม่ต้องทำการงานด้วยมือของตน ท้าวสักกะจักทำรัตนะทั้ง ๗ อันหาประมาณมิได้ไว้ในเรือนของเขาเหล่านั้น แล้วตรัสว่า จงให้ทาน รักษาศีลอยู่จำอุโบสถ จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด
 
ครั้นให้โอวาทแก่ชนเหล่านั้นแล้ว ทรงกระทำเรือนให้มีทรัพย์นับประมาณไม่ได้ แล้วเสด็จหลีกไป
 
เมื่อพระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่าทาสีในครั้งนั้นได้เป็นนางขุชชุตตรา ธิดาได้เป็นนางอุบลวรรณา บุตรได้เป็นพระราหุล มารดาได้เป็นนางเขมา ส่วนพราหมณ์ได้เป็นพระตถาคต
 
ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
 
ความโศกย่อมเกิดแต่ของที่รัก ภัยย่อมเกิดแต่ของที่รัก
ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้ปลดเปลื้องได้จากของที่รัก ภัยจักมีแต่ไหน
 
ในกาลจบเทศนา กุฎุมพีตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล




อ่าน กุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง
อ่าน คาถาธรรมบท

 

อ้างอิง
กุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏ เล่มที่
ลำดับที่
30

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ