พระอุทายีเถระ
ท่านพระอุทายีเถระนี้ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยในภพนั้น ๆ ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ นามว่าอุทายี เจริญวัยแล้ว เห็นพระพุทธานุภาพในสมาคมพระญาติของพระศาสดา ได้ศรัทธา บวชแล้ว บำเพ็ญวิปัสสนากรรม ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต
วันหนึ่ง เมื่อพระศาสดาทรงแสดงนาโคปมสูตร กระทำช้างเผือกประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงอันมหาชนพากันสรรเสริญให้เป็นอัตถุปปัติเหตุ ในเวลาจบเทศนาท่านพระอุทายีนี้นึกถึงคุณของพระศาสดา มีใจปีติซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์กระตุ้นเตือน จึงคิดว่า มหาชนนี้สรรเสริญนาคซึ่งเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ไม่ใช่สรรเสริญมหานาคคือพระพุทธเจ้า ท่านจักกระทำคุณแห่งช้างมหาคันธะ คือพระพุทธเจ้าให้ปรากฏ
ดังนี้แล้ว เมื่อจะชมเชยพระศาสดา จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
อุทายีเถรคาถา - พระอุทายีเถระสรรเสริญพระศาสดา
เราเคยได้ฟังมาจากพระอรหันต์ทั้งหลายว่ามนุษย์ทั้งหลายย่อมนอบน้อมบุคคลใด ผู้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เอง มีตนอันได้ฝึกฝนแล้ว มีจิตตั้งมั่น ดำเนินไป ในทางของพรหม ยินดีในการสงบระงับจิต ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง แม้เทวดาทั้งหลายก็พากันนอบน้อมบุคคลนั้น
เทวดาและมนุษย์ย่อมนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวงออกจากป่าคือกิเลสมาสู่นิพพาน ออกจากกาม มายินดีในเนกขัมมะ เหมือนทองคำอันพ้นแล้วจากหิน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นนาค รุ่งเรือง พ้นโลกนี้กับทั้งเทวโลก เหมือนภูเขาหิมวันต์ รุ่งเรืองล่วงภูเขาเหล่าอื่น
เราจักแสดงนาคซึ่งเป็นนาคมีชื่อโดยแท้จริง เป็นเยี่ยมกว่าบรรดาผู้มีชื่อว่านาคทั้งหมด แก่ท่านทั้งหลาย เพราะผู้ใดไม่ทำบาป ผู้นั้นชื่อว่านาค
ความสงบเสงี่ยมและการไม่เบียดเบียน ๒ อย่างนี้ เป็นเท้าหน้าทั้งสองของนาค สติสัมปชัญญะเป็นเท้าหลัง นาคคือช้างตัวประเสริฐ ควรบูชา มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาอันขาว มีสติเป็นคอ มีปัญญาเครื่องค้นคว้าธรรมเป็นศีรษะ มีธรรมคือสมาวาสะเป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง
ช้างตัวประเสริฐคือพระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้มีปกติเพ่งฌาน ยินดีในนิพพาน มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในภายใน คือ เมื่อเดิน ก็มีจิตตั้งมั่น เมื่อยืน ก็มีจิตตั้งมั่น นอน ก็มีจิตตั้งมั่น แม้เมื่อนั่ง ก็มีจิตตั้งมั่น เป็นผู้สำรวมในที่ทั้งปวง อันนี้คือสมบัติของช้างตัวประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้า
ช้างตัวประเสริฐคือพระพุทธเจ้านั้น บริโภคของอันหาโทษมิได้ ไม่บริโภคของที่มีโทษ ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มแล้ว ก็ไม่สั่งสมไว้ ตัดเครื่องเกาะเกี่ยวผูกพันน้อยใหญ่ทั้งสิ้น ไม่มีความห่วงใยเลย เที่ยวไปในที่ทุกหนทุกแห่ง
เปรียบเหมือนดอกบัวขาบ มีกลิ่นหอมหวลชวนให้รื่นรมย์เกิดในน้ำเจริญในน้ำ ย่อมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉันใด พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก อยู่ในโลก ไม่ติดอยู่ด้วยโลก เหมือนดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉันนั้น
ไฟกองใหญ่ลุกโชนเมื่อหมดเชื้อก็ดับไป ก็เมื่อเถ้ายังมีอยู่ เขาเรียกกันว่า ไฟดับแล้ว ฉันใด อุปมาอันทำให้รู้เนื้อความแจ่มแจ้งนี้ วิญญูชนทั้งหลายแสดงไว้แล้ว ก็ฉันนั้น
พระมหานาคทั้งหลายจักรู้แจ้งนาคด้วยนาคอันพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว พระพุทธนาคผู้ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ หมดอาสวะ เมื่อละสรีระร่างกายนี้แล้ว ก็ทรงหาอาสวกิเลสมิได้ จักเสด็จปรินิพพาน
พระเถระครั้นประดับด้วยอุปมา ๑๔ อย่างนี้แล้ว จึงพรรณนาพระคุณของพระศาสดาด้วยคาถา ๑๖ คาถา มี ๖๔ บาท แล้วให้เทศนาจบลงด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
อ่าน อุทายีเถรคาถา