Main navigation

พระโคทัตตเถระ

ว่าด้วย
ผู้ไม่ติดอยู่ในโลก
เหตุการณ์
บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของพระโคทัตตเถระ

ท่านพระโคทัตตเถระได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานในภพนั้น ๆ ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก 

ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลแห่งพ่อค้าเกวียนในกรุงสาวัตถี ชื่อว่าโคทัตตะ เมื่อท่านเจริญวัยแล้ว บิดาของท่านตายลง ท่านจึงรวบรวมทรัพย์เอาเกวียน ๕๐๐ เล่มบรรทุกสินค้า ท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ เลี้ยงชีพด้วยการค้าขาย กระทำบุญตามกำลังสมบัติ

วันหนึ่ง เมื่อโคที่เทียมแอกไว้ไม่สามารถลากเกวียนไปได้ ท่านจึงแทงโคนั้นที่หางอย่างแรง โคนั้นโกรธ กล่าวว่าโคลากเกวียนของท่านไปอย่างเต็มกำลังตลอดมา แต่วันนี้ท่านทำร้ายอย่างรุนแรง เพราะเหตุที่โคไม่อาจลากเกวียนนี้ไปได้ ถ้าโคตายจากอัตภาพนี้แล้ว จะขอตามเบียดเบียนท่านในอัตภาพหน้า เมื่อโคทัตตะได้ฟังจึงคิดว่าการเลี้ยงชีพด้วยการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายจะมีประโยชน์อะไรท่านเกิดความสังเวช ละสมบัติทั้งหมด บวชในสำนักของพระมหาเถระรูปหนึ่ง บำเพ็ญวิปัสสนากรรม ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต ยับยั้งอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่สมาบัติ

วันหนึ่งจึงปรารภโลกธรรมของหมู่พระอริยะ ผู้เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต ผู้มายังสำนักของตน เมื่อจะแสดงธรรม จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า 

โคทัตตเถรคาถา คาถาสุภาษิตของพระโคทัตตเถระ

โคอาชาไนยที่ดีอันเขาเทียมแล้วที่แอกเกวียน ไปได้ไม่ย่อท้อต่อภาระอันหนัก ไม่ทอดทิ้งเกวียนอันเขาเทียมแล้ว แม้ฉันใด บุคคลเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา เหมือนมหาสมุทรอันเต็มด้วยน้ำ บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ดูหมิ่นผู้อื่น ฉันนั้น ย่อมเป็นดังอริยธรรมของสัตว์ทั้งหลาย

นรชนผู้ตกอยู่ในอำนาจของเวลา ตกอยู่ในอำนาจของภพน้อยภพใหญ่ ย่อมเข้าถึงความทุกข์และต้องเศร้าโศก

คนพาลไม่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ย่อมเดือดร้อนด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือมีใจฟูขึ้นเพราะเหตุแห่งสุข ๑ มีใจฟุบลง เพราะเหตุแห่งทุกข์ ๑

ชนเหล่าใดก้าวล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในทุกขเวทนา ในสุขเวทนา และในอทุกขมสุขเวทนา ชนเหล่านั้นเป็นผู้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวเหมือนเสาเขื่อน เป็นผู้ไม่ฟูขึ้นและฟุบลง ชนเหล่านั้นย่อมไม่ติดอยู่ในลาภ ความเสื่อมลาภ ในยศ การเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ทั้งหมด ดังหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น

นักปราชญ์ทั้งหลายมีความสุข และได้ชัยชนะในที่ทุกแห่งไป การไม่ได้ลาภโดยชอบธรรมกับการได้ลาภโดยไม่ชอบธรรม ทั้งสองอย่างนี้ การไม่ได้ลาภอันชอบธรรมประเสริฐกว่า การได้ลาภอันไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร

คนไม่มีความรู้ มียศ กับคนมีความรู้ แต่ไม่มียศ คนมีความรู้ไม่มียศประเสริฐกว่า คนไม่มีความรู้มียศจะประเสริฐอะไร

การสรรเสริญจากคนพาล กับการติเตียนจากนักปราชญ์ การติเตียนจากนักปราชญ์ประเสริฐกว่า การสรรเสริญจากคนพาลจะประเสริฐอะไร

ความสุขอันเกิดจากกามคุณ กับความทุกข์อันเกิดจากวิเวก ความทุกข์อันเกิดจากวิเวกประเสริฐกว่า ความสุขอันเกิดจากกามคุณจะประเสริฐอะไร

ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรม กับความตายโดยธรรม ความตายโดยธรรมประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร

ชนเหล่าใดละกามและความโกรธได้แล้ว มีจิตสงบระงับเที่ยวไป ในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ติดอยู่ในโลก ชนเหล่านั้นไม่มีความรักความชัง 

บุคคลเจริญโพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕ และพละ ๕ แล้วบรรลุถึงความสงบอันยอดเยี่ยม หาอาสวะมิได้ ย่อมปรินิพพาน
 

 

 

อ่าน โคทัตตเถรคาถา

อ้างอิง
โคทัตตเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๓๘๒
ลำดับที่
20

สถานที่

นครสาวัตถี

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ