Main navigation

โสณสูตร

ว่าด้วย
พิณ ๓ สาย
เหตุการณ์
พระโสณะเกิดปริวิตกแห่งใจว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้ปรารภความเพียร แต่ว่าจิตของท่านยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น จึงคิดลาสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยโภคทรัพย์ในตระกูลที่มีอยู่และพึงทำบุญ พระผู้มีพระภาคทรงทราบปริวิตกแห่งใจของท่านพระโสณะ จึงได้ไปหาท่านพระโสณะด้วยพุทธานุภาพแล้วทรงแสดงอุปมาความเพียรด้วยพิณ ๓ สาย

พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระโสณะในธรรมอันเปรียบกับพิณ ๓ สาย ด้วยท่านพระโสณะเมื่อยังอยู่ครองเรือน เป็นผู้ฉลาดในการดีดพิณ ความว่า

สมัยใดสายพิณตึงเกินไป หย่อนเกินไป  สมัยนั้น พิณย่อมมีเสียงไม่ไพเราะ ไม่ควรแก่การใช้

สมัยใดสายพิณไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ในขนาดกลาง สมัยนั้น พิณย่อมมีเสียงไพเราะ ควรแก่การใช้ ฉันนั้นเหมือนกัน 

ความเพียรที่ปรารภมากเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน  ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้น จงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอจงตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น

ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ ได้ตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และได้ถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น  หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจแน่วแน่อยู่ ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง

เมื่อท่านพระโสณะบรรลุอรหัตแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วพยากรณ์อรหัตผล  ความว่า

ภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว หมดสิ้นกิเลสเครื่องประกอบในภพ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้น้อมไปยังเหตุ ๖ ประการ คือ น้อมไปยังเนกขัมมะ ๑  น้อมไปยังความสงัด ๑  น้อมไปยังความไม่เบียดเบียน ๑  น้อมไปยังความสิ้นตัณหา ๑  น้อมไปยังความสิ้นอุปาทาน ๑  น้อมไปยังความไม่หลงใหล ๑

เป็นผู้น้อมไปยังเนกขัมมะ เพราะสิ้นราคะ โทสะ โมหะ มิใช่เพราะอาศัยคุณเพียงศรัทธาอย่างเดียว

เป็นผู้น้อมไปยังความสงัด เพราะไม่พิจารณาเห็นกิจที่ตนจะต้องทำ หรือไม่พิจารณาเห็นการเพิ่มพูนกิจที่ทำแล้วอยู่ เพราะสิ้นราคะ โทสะ โหะ มิใช่เพราะมุ่งหวังลาภ สักการะและการสรรเสริญ

เป็นผู้น้อมไปยังความไม่เบียดเบียน ความสิ้นตัณหา ความสิ้นอุปาทาน ความไม่หลงไหล เพราะสิ้นราคะ โทสะ โมหะ มิใช่เพราะมิได้ละสีลัพพัตตปรามาส กลับให้เป็นแก่นสาร

ถ้ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เห็นแจ้งด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน แม้ดีเยี่ยม มาสู่คลองจักษุ คลองโสต คลองฆานะ คลองชิวหา คลองกาย คลองใจของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้นไม่ครอบงำจิตของท่านได้  จิตของท่านย่อมเป็นจิตไม่เจือด้วยกิเลส เป็นจิตตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว และท่านย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งจิตนั้น 
 

อ่าน โสณสูตร

อ้างอิง
โสณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๒๖ หน้า ๓๓๙-๓๔๒
ลำดับที่
16

อารมณ์

ขี้เกียจ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม