Main navigation

เจโตขีลสูตร

ว่าด้วย
ตะปูตรึงใจ
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงสั่งสอนภิกษุว่าหากภิกษุไม่ละตะปูตรึงใจ ๕ ประการ และไม่ถอนเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ ภิกษุนั้นจักไม่ได้ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัย

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ภิกษุรูปใดไม่ละตะปูตรึงใจ ๕ ประการ ไม่ถอนเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ ภิกษุนั้นจักไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้

ตะปูตรึงใจ ๕ ประการ 

ภิกษุชื่อว่ายังละตะปูตรึงใจ ๕​ ประการไม่ได้ เมื่อภิกษุยังสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา เป็นผู้โกรธเคือง ไม่พอใจ มีจิตอันโทสะกระทบกระทั่ง มีใจดุจตะปูในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย

จิตของภิกษุที่สงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา เป็นผู้โกรธเคือง... มีใจดุจตะปูในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น

ข้อที่จิตของภิกษุไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนือง ๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่นอย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุนั้นยังละตะปูตรึงใจ ๕ ประการ ไม่ได้

เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ

ภิกษุชื่อว่ายังถอนเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการไม่ได้ เมื่อภิกษุยังเป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานอยากในกาม ในร่างกาย ในรูป ในการนอน ความสุขในการเอน ความสุขในความหลับ หรือความปรารถนาว่าเราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีลอันนี้ ด้วยข้อวัตรอันนี้ ด้วยตบะอันนี้ หรือด้วยพรหมจรรย์อันนี้

จิตของภิกษุผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด... ไม่ปราศจากความทะเยอทะยานอยากในกาม ในร่างกาย ในรูป ในการนอน... หรือความปรารถนาว่าเราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง จิตของภิกษุย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนือง ๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น

ข้อที่จิตของภิกษุไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนือง ๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่นอย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุนั้นยังถอนเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ ไม่ได้

ผู้เจริญในพระธรรมวินัย

ภิกษุรูปใดละตะปูตรึงใจ ๕ ประการเสียได้ ถอนเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการเสียได้ ภิกษุนั้นจักถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ในพระธรรมวินัย

ภิกษุชื่อว่าละตะปูตรึงใจ ๕ ประการได้ เมื่อภิกษุไม่สงสัย ไม่เคลือบแคลง ปลงใจเชื่อ เลื่อมใสในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา เป็นผู้ไม่โกรธเคือง ไม่เป็นผู้ไม่พอใจ มีจิตอันโทสะไม่กระทบกระทั่ง ไม่ใช่ผู้มีใจดุจตะปูในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย

จิตของภิกษุผู้ไม่สงสัย ไม่เคลือบแคลง ปลงใจเชื่อ เลื่อมใสในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา เป็นผู้ไม่โกรธเคือง...ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนือง ๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น

ข้อที่จิตของภิกษุน้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนือง ๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่นอย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุนั้นละตะปูตรึงใจ ๕ ประการ ได้แล้ว

เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ ชื่อว่าภิกษุถอนได้ดีแล้ว เมื่อภิกษุปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานอยากในกาม ในร่างกาย ในรูป ในการนอน ในความปรารถนาว่าจักได้เป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีลอันนี้ ด้วยข้อวัตรอันนี้ ด้วยตบะอันนี้ หรือด้วยพรหมจรรย์อันนี้

จิตของภิกษุผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานอยากในกาม ในร่างกาย ในรูป ในการนอน ในความปรารถนาว่าจักได้เป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น

ข้อที่จิตของภิกษุน้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่นอย่างนี้ ชื่อว่าเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ อันภิกษุนั้นถอนได้ดีแล้ว

ผู้ควรแก่การบรรลุธรรม

ภิกษุนั้นเจริญอิทธิบาท ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร ๑ วิริยสมาธิปธานสังขาร ๑ จิตตสมาธิปธานสังขาร ๑ วิมังสาสมาธิปธานสังขาร ๑ และมีความขะมักเขม้นเป็นที่ ๕ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๕ รวมทั้งความขะมักเขม้นอย่างนี้ เป็นผู้ควรแก่ความเบื่อหน่าย เป็นผู้ควรแก่การตรัสรู้ เป็นผู้ควรแก่การบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงเยี่ยม

อุปมาแม่ไก่ฟักไข่

เปรียบเหมือนไข่ของแม่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง แม่ไก่กกไว้โดยชอบ ให้อบอุ่นโดยชอบ ฟักโดยชอบ ถึงแม่ไก่นั้น จะไม่ปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอให้ลูกไก่เหล่านี้จงทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยสวัสดีก็ตาม ลูกไก่เหล่านั้นก็ต้องทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยสวัสดีได้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

 

 

อ่าน เจโตขีลสูตร

อ้างอิง
เจโตขีลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๒๖-๒๓๓
ลำดับที่
17

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม