Main navigation

อุปาลิวาทสูตร

ว่าด้วย
วาทะของอุบาลีคฤหบดี
เหตุการณ์
ทีฆตปัสสีนิครนถ์กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรว่าตนได้ทูลพระพุทธเจ้าว่านิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่ากายทัณฑะมีโทษมากกว่าวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ส่วนพระพุทธเจ้าบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า เมื่ออุบาลีคฤหบดีได้ฟังเช่นนั้นก็ต้องการยกวาทะในเรื่องนี้กับพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาอย่างแจ่มแจ้งแก่อุบาลีคฤหบดี อุบาลีคฤหบดีขอถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ

พระผู้มีพระภาคทรงถามทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติกรรมในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร

ทีฆตปัสสีนิครนถ์กราบทูลว่า นิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติว่ากรรมเป็นอาจิณ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่าทัณฑะเป็นอาจิณ

พระผู้มีพระภาคถามต่อไปว่า นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร

ทีฆตปัสสีนิครนถ์กราบทูลว่า นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายทัณฑะ ๑ วจีทัณฑะ ๑ มโนทัณฑะ ๑  และบัญญัติว่ากายทัณฑะมีโทษมากกว่าวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ

พระผู้มีพระภาคทรงให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ยืนยันว่ากายทัณฑะมีโทษมากกว่าวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ๓ ครั้ง

ทีฆตปัสสีนิครนถ์กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าทรงบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าทรงบัญญัติว่ากรรมเป็นอาจิณ และทรงบัญญัติกรรมในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ทูลถามต่อไปว่า บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าทรงบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า กายกรรม วจีกรรม

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันว่ามโนกรรมมีโทษมากกว่ากายกรรมและวจีกรรม ๓ ครั้ง

เมื่อทีฆตปัสสีนิครนถ์บอกเรื่องการเจรจากับพระผู้มีพระภาคแก่นิครนถ์นาฏบุตร อุบาลีคฤหบดีกล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรว่าตนจักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรถึง ๓ ครั้งว่า ตนไม่ชอบใจที่อุบาลีคฤหบดีจะยกวาทะกับพระผู้มีพระภาค ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์

นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวว่าข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะเข้าถึงความเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ข้อที่พระผู้มีพระภาคจะเข้าถึงความเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดีนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้

อุบาลีคฤหบดีรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลพระผู้มีพระภาคว่าข้อที่ทีฆตปัสสีพยากรณ์นั้นชอบแล้ว มโนทัณฑะจะงามอะไรเมื่อเทียบกับกายทัณฑะ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า วจีทัณฑะ มโนทัณฑะไม่มีโทษมากเหมือนกายทัณฑะ

พระผู้มีพระภาคทรงให้อุบาลีคฤหบดีมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจาแล้ว ทรงย้อนถามอุบาลีว่า

นิครนถ์ผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ที่ไหน

อุบาลีคฤหบดีตอบว่า เกิดในเทวดาชื่อมโนสัตว์ เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ

พระผู้มีพระภาคทรงให้อุบาลีคฤหบดีมนสิการ แล้วพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อน คำก่อนกับคำหลังของอุบาลีคฤหบดีไม่ต่อกัน

อุบาลีคฤหบดียังคงกล่าวว่ากายทัณฑะมีโทษมาก วจีทัณฑะ มโนทัณฑะมีโทษไม่มากเหมือนกายทัณฑะ

พระผู้มีพระภาคทรงถามต่อไปว่า นิครนถ์ผู้สำรวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ เป็นอันมาก นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติวิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ผู้นี้

อุบาลีคฤหบดีตอบว่า นิครนถ์นาฏบุตรไม่ได้บัญญัติกรรมอันเป็นไปโดยไม่จงใจว่ามีโทษมากเลย ถ้าจงใจ จะเป็นกรรมมีโทษมาก และบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ

พระผู้มีพระภาคทรงให้อุบาลีคฤหบดีมนสิการ แล้วพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อน คำก่อนกับคำหลังของอุบาลีคฤหบดีไม่ต่อกัน

อุบาลีคฤหบดียังคงกล่าวว่าว่ากายทัณฑะมีโทษมากกว่า

พระผู้มีพระภาคทรงถามต่อไปว่า บ้านนาลันทาเป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีคนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น บุรุษคนหนึ่งจะทำสัตว์ที่มีอยู่ในบ้านนาลันทาให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน เป็นกองเนื้อเดียวกันโดยเวลาครู่หนึ่งได้หรือไม่

อุบาลีคฤหบดีตอบว่าบุรุษ ๕๐ คน ไม่สามารถทำสัตว์ที่อยู่ในบ้านนาลันทาเป็นลานเนื้อเดียวกัน เป็นกองเนื้องเดียวกันโดยเวลาครู่หนึ่ง บุรุษคนเดียวจะทำได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคทรงถามต่อไปว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิต จักทำบ้านนาลันทาให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียวได้หรือไม่

อุบาลีคฤหบดีตอบว่า สมณะหรือพราหมรณ์ผู้มีฤทธิ์ สามารถทำบ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี ให้เป็นเถ้าได้ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่ง บ้านนาลันทาบ้านเดียวจะงามอะไร

พระผู้มีพระภาคทรงให้อุบาลีคฤหบดีมนสิการ แล้วพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อน คำก่อนกับคำหลังของอุบาลีคฤหบดีไม่ต่อกัน

อุบาลีคฤหบดียังคงกล่าวว่ากายทัณฑะมีโทษมาก วจีทัณฑะ มโนทัณฑะมีโทษไม่มากเหมือนกายทัณฑะ

พระผู้มีพระภาคทรงถามต่อไปว่า ป่ามาตังคะ เป็นป่าไปเพราะเหตุอะไร

อุบาลีคฤหบดีตอบว่า เพราะใจประทุษร้ายอันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี

พระผู้มีพระภาคให้อุบาลีคฤหบดีมนสิการ แล้วพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อน คำก่อนกับคำหลังของอุบาลีคฤหบดีไม่ต่อกัน ก็อุบาลีคฤหบดีได้กล่าวว่าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน

อุบาลีคฤหบดีแสดงตนเป็นอุบาสก

อุบาลีคฤหบดีกล่าวว่าตนชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคตั้งแต่ข้ออุปมาข้อแรก แต่ปรารถนาจะฟังปฏิภาณการพยากรณ์ปัญหาอันวิจิตรของพระผู้มีพระภาค จึงแกล้งทำเป็นอยู่ตรงข้าม แล้วกล่าวแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่นอุบาลีคฤหบดีใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ เป็นความดี

อุบาลีคฤหบดีกล่าวว่าการที่พระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนั้น ตนยิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคมากขึ้น ด้วยว่าพวกอัญญเดียรถีย์ได้ตนเป็นสาวกแล้ว ยกธงปฏากไปตลอดบ้านนาลันทาให้ได้รู้กันว่าอุบาลีคฤหบดีถึงความเป็นสาวกของตน แล้วกล่าวแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตเป็นครั้งที่ ๒

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่าอุบาลีคฤหบดีเป็นดุจบ่อน้ำแก่พวกนิครนถ์มานานแล้ว อุบาลีคฤหบดีพึงให้บิณฑบาตแก่นิครนถ์ผู้เข้าไปถึง

อุบาลีคฤหบดีกล่าวว่าการที่พระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนั้น ตนยิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคมากขึ้น ตนได้ฟังมาว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่าควรให้ทานแก่พระผู้มีพระภาคเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่คนเหล่าอื่น ควรให้ทานแก่สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของผู้อื่น ทานที่ให้แก่พระผู้มีพระภาคเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก แล้วกล่าวต่อไปว่าตนจักทราบกาลอันควรในการให้ทาน แล้วกล่าวแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตเป็นครั้งที่ ๓

อุบาลีคฤหบดีบรรลุธรรมด้วยอนุปุพพิกถา

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทราม เศร้าหมอง อานิสงส์ในเนกขัมมะ

เมื่อทรงทราบว่าอุบาลีคฤหบดีมีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลีคฤหบดีที่อาสนะนั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

นิครนถ์นาฏบุตรทราบเรื่องอุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกพระผู้มีพระภาค

เมื่ออุบาลีคฤหบดีถึงบ้านได้บอกแก่นายประตูว่าห้ามพวกนิครนถ์เข้าบ้าน และให้เปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาคและสาวกของพระผู้มีพระภาค

ทีฆตปัสสีนิครนถ์เข้าไปแจ้งข่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรว่าอุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค นิครนถ์นาฏบุตรไม่เชื่อ จึงไปหาอุบาลีคฤหบดีด้วยตนเอง ถามว่าอุบาลีคฤหบดีถูกพระผู้มีพระภาคกลับใจด้วยมายาเครื่องกลับใจหรือ

อุบาลีคฤหบดีตอบว่า มายาอันเป็นเครื่องกลับใจนี้ดี นี้งาม ถ้าญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รัก กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร โลกจะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ผู้นั้นโลกนั้นสิ้นกาลนาน

เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรถามว่าชนทั้งหลายจะจำอุบาลีคฤหบดีว่าเป็นสาวกของใคร อุบาลีคฤหบดีก็พรรณนาคุณของพระผู้มีพระภาคแก่นิครนถ์นาฏบุตร นิครนถ์นาฏบุตรทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคไม่ได้ โลหิตพุ่งออกจากปากในที่นั้นเอง

 

 

อ่าน อุปาลิวาทสูตร

อ้างอิง
อุปาลิวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๖๒-๘๓ หน้า ๔๖-๖๓
ลำดับที่
8

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม