Main navigation

ผลแห่งทานอันพึงเห็นได้ในปัจจุบัน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้พระองค์ทรงบัญญัติผลแห่งทานที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบัน 

ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบัน

๑. เป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก

๒. สัตบุรุษผู้สงบคบหา

๓.  กิตติศัพท์อันงามย่อมขจรไป

๔.  เป็นผู้องอาจไม่เก้อเขิน เมื่อต้องเข้าไปสู่ที่ประชุมของกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี หรือสมณะ

ส่วนผลแห่งทานที่จะพึงได้ในสัมปรายภพ คือ เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติ 

บัณฑิตผู้หวังสุข ขจัดมลทิน คือ ความตระหนี่ แล้วให้ทาน ย่อมประดิษฐานในไตรทิพย์ ถึงความเป็นสหายของเทวดา บัณฑิตได้ทำกุศล เมื่อตายไปย่อมเที่ยวชมไปในอุทยานนันทนวัน เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ สาวกทั้งปวงของพระสุคตผู้ไม่มีกิเลส ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมร่าเริงทุกเมื่อ

ผลแห่งทาน ๖ ข้อที่ประจักษ์ได้ในปัจจุบันของคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี คือ

จะได้รับการ (๑) อนุเคราะห์ (๒) เข้าไปหา (๓) รับของ (๔) แสดงธรรมก่อนจากพระอรหันต์ทั้งหลาย (๕) กิตติศัพท์อันงามพึงขจรไป (๖) และเป็นผู้แกล้วกล้าไม่เก้อเขิน เมื่อต้องเข้าไปสู่บริษัทของกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี หรือสมณะ

เมื่อตายไป จะได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการ

๑.  เป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก

๒.  สัปบุรุษผู้สงบคบหา

๓.  กิตติศัพท์อันงามขจรทั่วไป

๔.  ไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์

๕.  เมื่อตายไปแล้วได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ  สัปบุรุษผู้สงบผู้สำรวมอินทรีย์ ประกอบพรหมจรรย์ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้ ฯ

กาลทาน ๕ ประการ
ได้แก่ ทายกย่อมให้ทาน แก่ผู้ที่มาสู่ถิ่นของตน ผู้ที่เตรียมจะไป ให้ทานในสมัยข้าวแพง ให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล และให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล

ผู้มีปัญญา ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง มีจิตผ่องใส ทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์

เหล่าชนอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ ดังนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอยจึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก

อ้างอิง
สีหสูตร, ทานานิสังสสูตร, กาลทานสูตร
ลำดับที่
20

Keywords

ทาน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม