Main navigation

มหาปุณณมสูตร

ว่าด้วย
อุปาทานและอุปาทานขันธ์
เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าวิสัชนาธรรมกับภิกษุรูปหนึ่งในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕ เมื่อทรงแสดงธรรมจบ ภิกษุ ๖๐ รูป บรรลุอรหัตตผล

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี

พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อม ประทับนั่งกลางแจ้งในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงตอบปัญหาธรรมดังนี้

อุปาทานขันธ์มี ๕ ประการ คือ

รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์  สัญญูปาทานขันธ์  สังขารูปาทานขันธ์ และวิญญาณูปาทานขันธ์

อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้มีฉันทะเป็นมูล

อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น เป็นอย่างเดียวกันก็ไม่ใช่ จะเป็นคนละอย่างก็ไม่ใช่ แต่ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแล เป็นตัวอุปาทานในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น

ความต่างแห่งความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ พึงมีอยู่ คือ

บุคคลบางคนมีความปรารถนาว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ ในอนาคตเถิด

ขันธ์ทั้งหลายมีชื่อเรียกว่าขันธ์ ได้ด้วยเหตุดังนี้ คือ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขาร และวิญญาณขันธ์

สิ่งที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติขันธ์

- มหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติรูปขันธ์
- ผัสสะ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์
- นามรูป เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์

สักกายทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิจะมีได้ โดยปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ และสัตบุรุษ ไม่ฉลาดและไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ และของสัตบุรุษ

ย่อมเล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ โดยความเป็นอัตตาบ้าง

เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง

เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณในอัตตาบ้าง

เล็งเห็นอัตตาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง

อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงมีได้

สักกายทิฏฐิจะไม่มีได้ โดยอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ และสัตบุรุษ ฉลาดและฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ และของสัตบุรุษ

ย่อมไม่เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ โดยความเป็นอัตตาบ้าง

ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง

ไม่เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณในอัตตาบ้าง

ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง

อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงไม่มี

สิ่งที่เป็นคุณ เป็นโทษ เป็นทางสลัดออกในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร และในวิญญาณ ได้แก่

อาการที่สุขโสมนัสอาศัยรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเกิดขึ้น เป็นคุณในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร และในวิญญาณ

อาการที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็นโทษในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร และในวิญญาณ

อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร และในวิญญาณได้ เป็นทางสลัดออกในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร และในวิญญาณ

เมื่อรู้ เมื่อเห็นอย่างไรจึงไม่มีอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา

เมื่อบุคคลเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เมื่อนั้นจะไม่มีอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหมดในภายนอก

ลำดับนั้น มีภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นโมฆบุรุษในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้แล้ว ตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่ สำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า ด้วยคิดว่า ถ้าเช่นนั้น เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนัตตา ดังนั้นกรรมที่อนัตตาทำแล้ว จะถูกตนได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของภิกษุรูปนั้น จึงทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ควรที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา

ดังนั้นพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายใน หรือมีในภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา

อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร และในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค และมี ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น
 

 

อ่าน มหาปุณณมสูตร

อ้างอิง
มหาปุณณมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑๒๐-๑๒๙ หน้า ๗๗-๘๔
ลำดับที่
17

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม