Main navigation

ฉฉักกสูตร

ว่าด้วย
ธรรม ๖ ประการ ๖ หมวด
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่าด้วย ธรรม ๖ ประการ ๖ หมวด คือ อายตนะภายนอก ๖ อายตนะภายใน ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ เมื่อทรงแสดงธรรมจบ ภิกษุ ๖๐ รูป บรรลุอรหัตตผล

พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมหมวด ๖ หกหมวด คือ          

หมวดที่ ๑ อายตนะภายใน ๖ คือ
จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน
           
หมวดที่ ๒ อายตนะภายนอก ๖ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

หมวดที่ ๓ หมวดวิญญาณ ๖ คือ
บุคคลอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักษุวิญญาณ
อาศัยโสตะและเสียง จึงเกิดโสตวิญญาณ
อาศัยฆานะและกลิ่น จึงเกิดฆานวิญญาณ
อาศัยชิวหาและรส จึงเกิดชิวหาวิญญาณ
อาศัยกายและโผฏฐัพพะ จึงเกิดกายวิญญาณ
อาศัยมโน และธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ

หมวดที่ ๔ หมวดผัสสะ ๖ คือ
บุคคลอาศัยจักษุและรูป เกิดจักษุวิญญาณ...
อาศัยโสตะและเสียง เกิดโสตวิญญาณ...
อาศัยฆานะและกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ...
อาศัยชิวหาและรส เกิดชิวหาวิญญาณ...
อาศัยกายและโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาณ...
อาศัยมโนและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ...

ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ
           
หมวดที่ ๕ หมวดเวทนา ๖ คือ
บุคคลอาศัยจักษุและรูป เกิดจักษุวิญญาณ...
อาศัยโสตะและเสียง เกิดโสตวิญญาณ...
อาศัยฆานะและกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ...
อาศัยชิวหาและรส เกิดชิวหาวิญญาณ...
อาศัยกายและโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาณ...
อาศัยมโนและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ...

ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
           
หมวดที่ ๖ หมวดตัณหา ๖ คือ
บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ...
อาศัยโสตะและเสียงเกิดโสตวิญญาณ...
อาศัยฆานะและกลิ่นเกิดฆานวิญญาณ...
อาศัยชิวหาและรสเกิดชิวหาวิญญาณ...
อาศัยกายและโผฏฐัพพะเกิดกายวิญญาณ...
อาศัยมโนและธรรมารมณ์เกิดมโนวิญญาณ...

ความประจวบของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
           
ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า อายตนะภายใน ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์) ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ เป็นอัตตาย่อมไม่สมควร เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านั้นย่อมปรากฏความเกิด ความเสื่อม ด้วยประการฉะนี้ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจึงเป็นอนัตตา
           
ปฏิปทาอันให้ถึงความตั้งขึ้นแห่งสักกายะ คือ การเห็นอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ ทั้งหลายเหล่านั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา
 
ปฏิปทาอันให้ถึงความดับสักกายะ คือ การเห็นอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ ทั้งหลายเหล่านั้นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
           
บุคคลอาศัยอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ผัสสะ ๖ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์ มิใช่สุขบ้าง

เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน ชมเชย ยึดติด จึงมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่

เขาอันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลง จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่  

เขาอันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้นตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ ยังไม่ทำวิชชาให้เกิดเพราะไม่ละอวิชชาเสีย แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้
           
บุคคลอาศัยอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ผัสสะ ๖ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์ มิใช่สุขบ้าง

เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่ชมเชย ไม่ยึดติด จึงไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่

เขาอันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไห้ ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลง จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่

เขาอันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้นตามความเป็นจริง จึงไม่มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ ทำวิชชาให้เกิดเพราะละอวิชชาเสีย แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ นั่นเป็นฐานะที่มีได้     
           
อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ผัสสะ เวทนา ตัณหา เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว และทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี
           
เมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น



อ่าน ฉฉักกสูตร

 

อ้างอิง
ฉฉักกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๘๑๐-๘๒๔ หน้า ๓๘๖-๓๙๓
ลำดับที่
18

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม