Main navigation

ธาตุวิภังคสูตร

ว่าด้วย
การจำแนกธาตุ
เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระเจ้าปุกกสาติเรื่องธาตุ

อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก 

คนเรานี้มีธาตุ ๖ มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น 

ธาตุ มี ๖ อย่าง คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ 

คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน เป็นแดนสัมผัส 

ความหน่วงนึกของใจ ๑๘ คือ

บุคคลเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมหน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส โทมนัส อุเบกขา

บุคคลฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ย่อมหน่วงนึกเสียงเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส โทมนัส อุเบกขา

บุคคลดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ย่อมหน่วงนึกกลิ่นเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส โทมนัส อุเบกขา

ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ย่อมหน่วงนึกรสเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส โทมนัส อุเบกขา

ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ย่อมหน่วงนึกโผฏฐัพพะเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส โทมนัส อุเบกขา

รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ย่อมหน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส โทมนัส อุเบกขา

นี้เป็นการหน่วงนึกโสมนัส ๖ หน่วงนึกโทมนัส ๖ หน่วงนึกอุเบกขา ๖ 

ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ คือ

มีปัญญา มีสัจจะ มีจาคะ (ความเสียสละ) มีอุปสมะ (ความสงบ) เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ 

อย่างไรเล่า ชื่อว่าไม่ประมาทปัญญา

ธาตุนี้มี ๖ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ

ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี  ก็ธาตุทั้งภายในและภายนอกเป็นธาตุทั้งนั้น พึงเห็นธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดในธาตุ

ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคลย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

บุคคลนั้นเมื่อเสวยเวทนา (สุข ทุกข์ อุทุกขมสุข) ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนา (สุข ทุกข์ อุทกขมสุข) อยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งเวทนานั้นดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้ง ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือ อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อนโยน สละสลวยและผ่องแผ้ว 

เมื่อเหลืออยู่แต่อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อนโยน สละสลวย และผ่องแผ้ว บุคคลนั้นย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่า ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อรูปฌาณ ๔ และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขา อาศัยอรูปฌาณ ๔ นั้น ยึดอรูปฌาณ ๔นั้น ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน

บุคคลนั้นย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่า ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อรูปฌาณ ๔ และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ

บุคคลนั้นจะไม่คำนึง จะไม่คิดถึงความเจริญหรือความเสื่อมเลย  เมื่อไม่คำนึง ไม่คิดถึง ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่หวาดเสียว เมื่อไม่หวาดเสียว ย่อมปรินิพพานเฉพาะตนทีเดียว ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ถ้าเขาเสวยเวทนาใดๆ อยู่ ย่อมรู้สึกว่า เวทนานั้น ไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน

ถ้าเสวยสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย ถ้าเสวยทุกขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย

เขาเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุดย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้ จักเป็นของสงบ 

เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ 

สัจจะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง คือ นิพพาน

เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดา นั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่ นิพพาน นั้นจริง เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง  ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ

จาคะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง คือ ความสละคืนอุปธิทั้งปวง 

เพราะบุคคลยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า อาฆาต พยาบาท ความคิดประทุษร้าย อวิชชา ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย อกุศลธรรมนั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง 

อุปสมะ (ความสงบ) อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ คือความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ

ผู้ถึงพร้อมด้วยความสงบอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปสมะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ เป็นอุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง 

กิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม 

ความสำคัญตนมีอยู่ดังนี้ว่า เราเป็น เราไม่เป็น เราจักเป็น เราจักไม่เป็น เราจักต้องเป็นสัตว์มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ 

ความสำคัญตนจัดเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร ก็ท่านเรียกบุคคลว่า เป็นมุนีผู้สงบแล้ว เพราะล่วงความสำคัญตนได้ทั้งหมดเทียว

มุนีผู้สงบแล้ว ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน แม้มุนีนั้นก็ไม่มีเหตุที่จะต้องเกิด เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตายจักกำเริบได้อย่างไร เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร

คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม เป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว                



อ่าน ธาตุวิภังคสูตร
 

อ้างอิง
ธาตุวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๖๗๓-๖๙๗
ลำดับที่
17

สถานที่

มคธชนบท

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม