Main navigation
ทุกข์
Share:

ทุกข์ของผู้บริโภคกาม

(๑) ความเป็นคนจน เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

คนจนเข็ญใจยากไร้ กู้ยืมแล้วย่อมรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกามในโลก

คนจนเข็ญใจยากไร้ รับใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การทวงก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ทวงไม่ให้ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา แม้การติดตามก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทันไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก


ทุกข์ของผู้เข้าฌาน

(๒) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยกามฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยกามเหล่านั้น ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์

ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ เพราะวิตกวิจารสงบไป ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยวิตกฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยวิตกเหล่านั้น ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์

ภิกษุบรรลุตติยฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยปีติฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียนฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยปีติ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์

ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอุเบกขาฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอุเบกขา ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์

เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ฯลฯ ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยรูปฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุขเพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยรูปย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์

ภิกษุบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากาสานัญจายตนะฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุขเพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากาสานัญจายตนะย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์

ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยวิญญาณัญจายตนะฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยวิญญาณัญจายตนะย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์

ภิกษุบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนะฟุ้งซ่าน ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข เพียงเพื่อเบียดเบียน ฉันใด สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนะ ย่อมฟุ้งซ่านแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกอาพาธนั้นว่าเป็นความทุกข์


ความเป็นทุกข์ ๓ อย่าง คือ

(๓) ความเป็นทุกข์เกิดจากความไม่สบายกาย ๑
ความเป็นทุกข์เกิดจากสังขาร ๑
ความเป็นทุกข์เกิดจากความแปรปรวน ๑

ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละความเป็นทุกข์ ๓ อย่างนี้


เหตุให้เกิดทุกข์

(๔) นัยที่ ๑ ความเกิด เป็นทุกข์

เมื่อมีการเกิด เป็นอันหวังได้ทุกข์นี้ คือ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ สัมผัสไฟ สัมผัสท่อนไม้ สัมผัสศาตรา ญาติก็ดี มิตรก็ดี มาประชุมพร้อมกันโกรธเคืองเขา เมื่อมีการเกิด เป็นอันหวังได้ทุกข์นี้


(๕) นัยที่ ๒ ความไม่ยินดี เป็นทุกข์

เมื่อมีความไม่ยินดี เป็นอันหวังได้ทุกข์นี้ คือ บุคคลผู้มีความไม่ยินดีแม้เดินอยู่ ก็ไม่ประสบความสุขความสำราญ

บุคคลผู้มีความไม่ยินดีแม้ยืนอยู่... แม้นั่งอยู่... แม้นอนอยู่... แม้อยู่ในบ้าน... แม้อยู่ในป่า... แม้อยู่ที่โคนไม้... แม้อยู่ในเรือนว่างเปล่า... แม้อยู่ในที่แจ้ง... แม้อยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ก็ย่อมไม่ประสบความสุขความสำราญ เมื่อมีความไม่ยินดีก็เป็นอันหวังได้ความทุกข์นี้


(๖) นัยที่ ๓ ชราและมรณะ เป็นทุกข์

ชราและมรณะนี้ ย่อมบังเกิดในโลก เป็นทุกข์หลายอย่างต่าง ๆ กัน


การทำทุกข์ให้สิ้นไป

เมื่อเธอพิจารณาอยู่ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ชราและมรณะนี้ มีอุปธิเป็นเหตุ มีอุปธิเป็นที่ตั้งขึ้น มีอุปธิเป็นกำเนิดมีอุปธิเป็นแดนเกิด เมื่ออุปธิมี ชราและมรณะจึงมี เมื่ออุปธิไม่มี ชราและมรณะก็ไม่มี

เธอย่อมทราบชัดซึ่งชราและมรณะ
ย่อมทราบชัดซึ่งความเกิดแห่งชราและมรณะ
ย่อมทราบชัดซึ่งความดับแห่งชราและมรณะ
และย่อมทราบชัดซึ่งปฏิปทาอันสมควรเครื่องให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ
และเธอย่อมเป็นผู้ปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตามธรรม

เราเรียกภิกษุรูปนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับไปแห่งชราและมรณะโดยชอบทุกประการ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายในว่า

ก็อุปธิอันนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี อุปธิจึงมี เมื่ออะไรไม่มี อุปธิจึงไม่มี

เมื่อเธอพิจารณาอยู่ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า อุปธิมีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด เมื่อตัณหามี อุปธิจึงมี เมื่อตัณหาไม่มี อุปธิก็ไม่มี

เธอย่อมทราบชัดซึ่งอุปธิ
ย่อมทราบชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งอุปธิ
ย่อมทราบชัดซึ่งความดับแห่งอุปธิ
ย่อมทราบชัดซึ่งปฏิปทาอันสมควรเครื่องให้ถึงความดับแห่งอุปธิ
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตามธรรม

เราเรียกภิกษุรูปนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับแห่งอุปธิโดยชอบทุกประการ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายในว่า

ก็ตัณหานี้เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน

เมื่อเธอพิจารณาอยู่ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ที่ใดแล เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นั้น

ก็อะไรเล่าเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก

ตาเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก...
หูเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก...
จมูกเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก...
ลิ้นเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก...
กายเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก...
ใจเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก...

ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ใจนั้น เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน ได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าทำตัณหาให้เจริญขึ้น

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำตัณหาให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าทำอุปธิให้เจริญขึ้น

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดมาทำอุปธิให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าทำทุกข์ให้เจริญขึ้น

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำทุกข์ให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าไม่พ้นจากชาติชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เขาไม่พ้นแล้วจากทุกข์ได้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขันสำริดที่ใส่น้ำที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าวเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้ามา ระหายน้ำ คนทั้งหลายจึงได้พูดกะบุรุษผู้นั้นอย่างนี้ว่า

นายขันสำริดที่ใส่น้ำนี้ ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงดื่มเถิด เพราะว่าเมื่อดื่มน้ำนั้น ก็จักซาบซ่านด้วยสีบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ก็แหละครั้นดื่มเข้าไปแล้ว ตัวท่านจะถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตายเพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ

บุรุษนั้นผลุนผลันไม่ทันพิจารณาดื่มน้ำนั้นเข้าไป ไม่บ้วนทิ้งเลย เขาก็พึงถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มน้ำนั้นเป็นเหตุทันที ฉันใด

ฉันนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน ได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าทำตัณหาให้เจริญขึ้น ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำทุกข์ให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าไม่พ้นจากชาติชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เขาไม่พ้นแล้วจากทุกข์ได้เลย

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน ได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยสภาพไม่ใช่ตน โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าละตัณหาได้แล้ว

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำตัณหาให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าละอุปธิได้แล้ว

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดมาทำอุปธิให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าละทุกข์ได้แล้ว

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละทุกข์ได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากชาติชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แก้วเหล้าที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าวเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามา ระหายน้ำ คนทั้งหลายจึงได้พูดกะบุรุษผู้นั้นอย่างนี้ว่า

นาย แก้วเหล้าที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงดื่มเถิด เพราะว่าเมื่อดื่มเหล้านั้น ก็จักซาบซ่านด้วยสีบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ก็แหละ ครั้นดื่มเข้าไปแล้ว ตัวท่านจักถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ

ลำดับนั้น บุรุษนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า เหล้านี้เราดื่มแล้ว เราอาจจะบรรเทาได้ด้วยน้ำเย็น ด้วยเนยใส ด้วยน้ำข้าวสัตตุเค็ม หรือด้วยน้ำชื่อโลณโสจิรกะ แต่เราจะไม่ดื่มเหล้านั้นเลย เพราะไม่เป็นประโยชน์ มีแต่ทุกข์แก่เราช้านาน เขาพิจารณาดูแก้วเหล้านั้นแล้ว ไม่พึงดื่ม เขาทิ้งเสีย เขาก็ไม่เข้าถึงความตาย หรือความทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ แม้ฉันใด

ฉันนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน ได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยสภาพไม่ใช่ตน โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าละตัณหาได้แล้ว ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละทุกข์ได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากชาติชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์ได้


(๗) ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์อยู่แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ไม่ได้ จะทำทุกข์ให้สิ้นไปไม่ได้


(๘) เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ อย่างนี้ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับทุกข์

ก็เหตุเกิดแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ

ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์

ก็ความต่างแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ

ทุกข์มากก็มี ทุกข์น้อยก็มี ทุกข์ที่คลายช้าก็มี ทุกข์ที่คลายเร็วก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งทุกข์

ก็วิบากแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกทุกข์อย่างใดครอบงำ มีจิตอันทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกลุ้มรุม ย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลง บางคนถูกทุกข์ใดครอบงำแล้ว มีจิตอันทุกข์ใดกลุ้มรุมแล้ว ย่อมแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์จากภายนอกว่าใครจะรู้ทางเพื่อดับทุกข์นี้ได้

เรากล่าวทุกข์ว่ามีความหลงใหลเป็นผล หรือว่ามีการแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ภายนอกเป็นผล นี้เรียกว่าวิบากแห่งทุกข์

ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ

ความดับแห่งทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งตัณหา

ก็ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์

 

ดู ทุกขอริยสัจ, เวทนา

 

 
อ้างอิง:
(๑) อิณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๑๖
(๒) นิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๓๘
(๓) ทุกขตาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๑๙ หน้า ๘๓
(๔) สุขสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๖๕
(๕) สุขสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๖๖
(๖) สัมมสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๒๕๔-๒๖๒
(๗) จูฬสัจจกสูตร  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๙๘ หน้า ๓๐๕
(๘)  นิพเพธิกสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒  ข้อที่ ๓๓๔ หน้า ๓๖๙
 
 
 

คำต่อไป