(๑) ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติ อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุขมี ๔ อย่าง
บรรลุจตุตถฌาน
ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์
ดับโสมนัส โทมนัสได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่างคือ
การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
การมนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑
ปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๓ อย่าง คือ
การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
การมนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑
อภิสังขาร (ความกำหนดระยะกาล) ในเบื้องต้น ๑
ปัจจัยแห่งความออกของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่างคือ
การมนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
การไม่มนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑
เจโตวิมุตติมีอารมณ์ ๔ อย่าง
เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มีประมาณ (อันหาประมาณมิได้)
เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มีอะไร ๆ
เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง
เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต
เจโตวิมุตติทั้ง ๔ ต่างกันคือ
เจโตวิมุติมีอารมณ์อันหาประมาณมิได้ เกิดขึ้นเมื่อบุคคล มีจิตเปี่ยมไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันกว้างขวางหาประมาณไม่ได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปสู่โลกหมดทุกส่วน เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง
เจโตวิมุติมีอารมณ์ว่าไม่มีอะไร ๆ เกิดขึ้นเมื่อบุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน บรรลุอากิญจัญญายตนฌานว่าน้อยหนึ่งมิได้มี ด้วยการมนสิการว่าไม่มีอะไร ๆ อยู่
เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง เกิดขึ้นเมื่อบุคคล พิจารณาเห็นว่า สิ่งนี้ว่างจากตนบ้าง จากสิ่งที่เนื่องด้วยตนเอง
เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต เกิดขึ้นเมื่อบุคคลบรรลุเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
เจโตวิมุตติทั้ง ๔ เหมือนกันคือ
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ ว่างจากราคะโทสะ โมหะ อันทำประมาณ อันเป็นเครื่องกังวล อันทำนิมิต มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ เลิศกว่าเจโตวิมุตติมีอารมณ์อันไม่ประมาณ เจโตวิมมุติมีอารมณ์ว่าไม่มีอะไร ๆ เจโตวิมุตติมีอารมณ์อันว่าง เจโตวิมุตติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต
(๒) ธรรม ๕ ประการ เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติ ที่ยังไม่แก่กล้า
1. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
2. เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
3. เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อเป็นที่สบายในการเปิดจิต เพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา ศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา
4. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
5. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา ความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
(๓) เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้ และเจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะ
เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีใจสหรคตด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องขวางอยู่ ด้วยอาการเดียวกัน ชื่อว่ามีใจสหรคตด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่างไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ มีอารมณ์หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวงในที่ทุกสถาน โดยเป็นอัตภาพทั้งมวลอยู่
นี้เรียกว่า เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้
ก็เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้แห่งหนึ่ง สองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านแห่งหนึ่ง สองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรหนึ่ง มหาอาณาจักรสองหรือสามอาณาจักรว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปตลอดปฐพี มีสมุทรเป็นขอบเขตว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ
(๔) พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ เป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด
(๕) เพราะเหตุไรภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้จึงเป็นเจโตวิมุติ บางพวกเป็นปัญญาวิมุติ
ในเรื่องนี้ เรากล่าวความต่างกันแห่งอินทรีย์ของภิกษุเหล่านั้น
(๓) อนุรุทธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๔๒๒-๔๒๓ หน้า ๒๒๓-๒๒๔
(๔) มหาสาโรปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๕๒ หน้า ๒๖๓
(๕) มหามาลุงโกฺยวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๕๙ หน้า ๑๒๘