Main navigation
จุตูปปาตญาณ
Share:

(๑) (๒) ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย

เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า

สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต  วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้

เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ 

(๑)  นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

(๒)  ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง

(๓) ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์

(๔) สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด ศาสดานี้ไม่ควรท้วงในโลก  อนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ

(๕) ก็สาวกย่อมบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ ในศาสดาใด บุคคลพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้น และเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้

(๖) ปัญญาในความเห็นรูปเป็นนิมิตหลายอย่าง หรืออย่างเดียวด้วยสามารถแสงสว่าง เป็นทิพจักษุญาณ

ภิกษุในศาสนานี้เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและปธานสังขาร วิริยะและปธานสังขาร จิตตะและปธานสังขาร วิมังสาและปธานสังขาร

ครั้นแล้ว ย่อมมนสิการถึงอาโลกสัญญา ตั้งสัญญาว่าเป็นกลางวัน มีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ เจริญจิตให้มีแสงสว่างว่า กลางวันฉันใด กลางคืนฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันฉันนั้น

ภิกษุนั้นมีจิตอันอบรมแล้วอย่างนั้น บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิล่วงจักษุของมนุษย์

ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้หนอประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป
ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความเห็นรูป เป็นนิมิตหลายอย่างหรือ
อย่างเดียว ด้วยสามารถแสงสว่าง เป็นทิพจักษุญาณ

 

อ้างอิง:
(๑) สามัญญผลสูตร จุตูปปาตญาณ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๓๗ หน้า ๗๖-๗๗
(๒) สุภสูตร จุตูปปาตญาณ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๓๕ หน้า ๓๐๓-๓๐๔
(๓) เกวัฏฏสูตร จุตูปปาตญาณ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๔๒ หน้า ๓๒๔-๓๒๕
(๔) โลหิจจสูตร จุตูปปาตญาณ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๖๓ หน้า ๓๕๔-๓๕๕
(๕) สันทกสูตร วิชชา ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๓๑๐ หน้า ๒๓๗-๒๓๘
(๖) ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๒๕๗ หน้า ๙๒-๙๓

คำต่อไป