(๑) ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ
หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่
จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต
หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ
หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
ดังพรรณามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น จิตในจิตภายใน บ้าง
พิจารณาเห็น จิตในจิตภายนอก บ้าง
พิจารณาเห็น จิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอก บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิต บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเสื่อมในจิต บ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิต บ้าง
สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
(๒) เมื่อเธอพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมละความพอใจในจิตนั้นได้ เพราะละความพอใจได้ จึงเป็นอันชื่อว่ากระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ
(๓) เมื่อเธอพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมกำหนดรู้จิตได้ เพราะกำหนดรู้จิตได้ จึงเป็นอันชื่อว่ากระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ