Main navigation
จาคานุสติ
Share:

(๑)  จาคานุสติ เป็น ๑ ในอนุสสติ ๖ อันได้แก่ พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ

บุคคลพึงระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีแล้วในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือนในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุม

สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง

อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภจาคะ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ

อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญจาคานุสติ

(๒) สมัยใด พระอริยสาวกเจริญจาคานุสติอยู่ สมัยนั้น จิตนั้นเป็นจิตไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก (คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบจญกามคุณ)

สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำจาคานุสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้

(๓) อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก อริยสาวกนั้น ย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน โดยประการทั้งปวงอยู่

สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำจาคานุสติให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา

 

อ้างอิง:
(๑)  มหานามสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔  ข้อที่ ๒๑๘ หน้า ๓๐๖-๓๐๗
(๒)  อนุสสติฏฐานสูตร  พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๙๖ หน้า ๒๘๗-๒๘๘
(๓)  กัจจานสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๙๗ หน้า ๒๘๘-๒๙๐


 

คำต่อไป