Main navigation
ทุกขอริยสัจ
Share:

(๑)  ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ก็ชาติเป็นไฉน

ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ อันนี้เรียกว่าชาติ

ก็ชราเป็นไฉน

ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชรา

ก็มรณะเป็นไฉน

ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ

ก็โสกะเป็นไฉน

ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าโสกะ

ก็ปริเทวะเป็นไฉน

ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ

ก็ทุกข์เป็นไฉน

ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์

ก็โทมนัสเป็นไฉน

ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส

ก็อุปายาสเป็นไฉน

ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส

ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน

ความประสบความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ฯ

ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน

ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ

ก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน

ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิด ควาแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา ขอความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ 

ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์

ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน

อุปาทานขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์


(๒) ทุกข์เป็นสัจจะ (ความจริงแท้)

สภาพแห่งทุกข์เป็นทุกข์ ๔ ประการ เป็นสัจจะ (เป็นความจริงแท้) คือ

สภาพที่บีบคั้นแห่งทุกข์ ๑
สภาพแห่งทุกข์อันปัจจัยปรุงแต่ง ๑ (สังขาร)
สภาพที่ให้เดือดร้อน ๑
สภาพที่แปรไป ๑

ทุกข์เป็นสัจจะด้วยอรรถว่าเป็นความจริงแท้อย่างนี้


(๓) ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์อยู่แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ไม่ได้ จะทำทุกข์ให้สิ้นไปไม่ได้


อุปมาทุกข์

(๔) ฝุ่นประมาณเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงเอาปลายพระนขาช้อนขึ้นนี้มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว ฝุ่นที่พระผู้มีพระภาคทรงเอาปลายพระนขาช้อนขึ้นมีประมาณน้อยย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐

ฉันนั้นเหมือนกัน ความทุกข์ที่หมดไป สิ้นไปของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ตรัสรู้แล้ว มีมากกว่า ส่วนที่เหลือมีประมาณน้อย ความที่ทุกข์เป็นสภาพยิ่งใน ๗ อัตภาพ เมื่อเทียบเข้ากับกองทุกข์ที่หมดสิ้นไปอันมีในก่อน ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐

การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้ การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้


ความเกิดและความดับแห่งทุกข์ (ปฏิจจสมุปบาท)

(๕) ก็ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์เป็นไฉน

เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

นี้แลเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์

เพราะอาศัยหูและเสียง...
เพราะอาศัยจมูกและกลิ่น...
เพราะอาศัยลิ้นและรส...
เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ ...

เพราะอาศัยใจและธรรม จึงเกิดมโนวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

นี้แลเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์

ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉน

เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสก ปริเทว ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

นี้แลเป็นความดับแห่งทุกข์

เพราะอาศัยหูและเสียง...
เพราะอาศัยจมูกและกลิ่น...
เพราะอาศัยลิ้นและรส...
เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ...

เพราะอาศัยใจและธรรม จึงเกิดมโนวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสก ปริเทว ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

นี้แลเป็นความดับแห่งทุกข์


ผู้ควร-ไม่ควรสิ้นทุกข์

(๖) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้มานะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในมานะนั้น ยังละมานะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้มานะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในมานะนั้น ละมานะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

หมู่สัตว์นี้ประกอบแล้วด้วยมานะ มีมานะเป็นเครื่องร้อยรัด ยินดีแล้วในภพ ไม่กำหนดรู้มานะ ต้องเป็นผู้มาสู่ภพอีก ส่วนสัตว์เหล่าใดละมานะได้แล้ว น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นมานะ สัตว์เหล่านั้นครอบงำกิเลสเครื่องร้อยรัดคือมานะเสียได้ ก้าวล่วงได้แล้วซึ่งกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง

(๗) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้โลภะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในโลภะ ยังละโลภะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้โลภะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในโลภะนั้น ละโลภะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งความโลภอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โลภไปสู่ทุคติแล้ว ละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ

(๘) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้โทสะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในโทสะนั้น ยังละโทสะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้โทสะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในโทสะนั้น ละโทสะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งโทสะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประทุษร้ายไปสู่ทุคติแล้ว ละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ

๙) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้โมหะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในโมหะนั้น ยังละโมหะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้โมหะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในโมหะนั้น ละโมหะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งโมหะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้หลงไปสู่ทุคติ แล้วละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ

(๑๐) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้มักขะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในมักขะนั้น ยังละมักขะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้มักขะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในมักขะนั้น ละมักขะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งมักขะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ลบหลู่ไปสู่ทุคติ แล้วละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ
 

 
อ้างอิง :  
(๑) ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๔ หน้า ๑๖
     สติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๔๖
     มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๙๔-๒๙๔
(๒) สัจจกถา พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๕๔๕ หน้า ๒๕๕
(๓) จูฬสัจจกสูตร  พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๙๘ หน้า ๓๐๕
(๔) นขสิขสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๓๑๑-๓๑๒ หน้า ๑๓๐
(๕) ทุกขนิโรธสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๖๑-๑๖๓ หน้า ๗๐-๗๑
(๖) มานสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๘๖
(๗) โลภสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๘๗
(๘) โทสสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๘๘
(๙) โมหสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๘๘
(๑๑) มักขสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๙๑
 
 
 

คำต่อไป