Main navigation

วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทกับในอาทิตตปริยาย เป็นวิญญาณเดียวกันหรือไม่

Q ถาม :

กราบเรียนขอความรู้ค่ะ วิญญาณที่กล่าวในปฏิจจสมุปบาท กับวิญญาณในอาทิตตปริยาย เป็นวิญญาณเดียวกันไหมคะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เหมือนกันโดยธาตุ ต่างกันโดยธรรม

วิญญาณในอาทิตตปริยายสูตร 

วิญญาณในอาทิตตปริยายสูตร หมายถึงธาตุรู้ที่เกิดรับรู้การกระทบ เมื่อรู้แล้ว บันทึกความจำไว้ใน synapse กระทบบ่อย ๆ หล่อหลอมเป็นชุด auto reflection (การสนองตอบอัตโนมัติ) เช่น เมื่อมีอะไรจะเข้าตา ตากระพริบทันที เมื่อมีเสียงกระทบหู หูจะผึ่งรับเสียงทันที เมื่อมีกลิ่นกระทบจมูก จมูกจะฟุตฟิตตามกลิ่น เมื่อมีรสกระทบลิ้น ลิ้นจะซี้ดซ้าดตามรส เมื่อมีลมโชยมากระทบกาย กายจะผ่อนคลายตามลม เมื่อมีพายุมากระทบกาย กายจะทรงตัวต้านลม เมื่อมีความรู้สึกจากผัสสะภายนอกมากระทบใจ ใจจะมีปฏิกิริยา และจำลักษณะปฏิกริยานั้นไว้ วิญญาณที่อายตนะ เกิด-ดับตามการเกิดดับของการรับรู้

หรือเมื่อใจสั่งมาว่าอยากเห็นสิ่งนี้ ตาก็สอดส่ายหา ใจอยากได้ยินเสียงนี้ หูก็เงี่ยโสตสดับ ใจอยากดมกลิ่นนี้ จมูกก็ดั้นด้นดมหา ใจอยากลิ้มรสนี้ ลิ้นก็หลั่งสารน้ำลายสอลองลิ้ม ใจอยากสัมผัสผิวนี้ กายก็เสาะแสวงหา เป็นต้น 

ทุกขณะแห่งปฏิกิริยาทั้งหมดนี้ เกิดความร้อนขึ้นเพราะการเสียดสีทำกิจ จึงเรียกว่าอาทิตต (ความร้อน) ปริยาย (โดยนัยต่าง ๆ) 

วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท

ในปฏิจจสมุปบาท พระพุทธองค์ตรัสว่า สังขารทำให้เกิดวิญญาณ นั่นหมายความว่า เกิดธาตุรู้ขึ้นรับรู้การปรุงแต่งทางกาย เกิดธาตุรู้ขึ้นรับรู้การปรุงแต่งทางวาจา เกิดธาตุรู้ขึ้นรับรู้การปรุงแต่งทางใจ  

วิญญาณรับรู้การปรุงแต่งทางกาย เกิดขึ้นทั่วกายที่ปรุงแต่งเป็นร่างอยู่ตลอดเวลา

วิญญาณรับรู้การปรุงแต่งทางวาจา เกิดขึ้นที่สมอง เส้นประสาท และปาก ขณะที่ปรุงแต่งเป็นความคิดตามความหมาย ประกอบเป็นถ้อยคำ และเปล่งเสียงทางปาก

วิญญาณรับรู้การปรุงแต่งทางใจ เกิดขึ้นที่ใจทุกขณะที่ 

1. ใจรู้ตัวอยู่ 

2. รับรู้ความรู้สึกที่รับมาจากการรับรู้ภายนอกใจ

3. รู้ความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาในใจ 

4. รับรู้การบันทึกความจำในความรู้สึกนั้น (ความทรงจำที่ฝังแน่นในใจจะข้ามภพชาติ)

5. รับรู้การประมวลชุดความจำเพื่อวินิจฉัยปรากฏการณ์ใหม่

6. รับการเรียนรู้คุณและโทษของสิ่งนั้น ๆ

7. รับรู้การประกอบความอยากและความไม่อยากในสิ่งนั้น

8. รับรู้เจตนาที่มีต่อสิ่งนั้น ๆ

9. รับรู้การตัดสินใจสนองตอบสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายในแต่ละครั้ง

10. รับรู้การยึดถือไว้ หรือการสลัดออก

11. รับรู้ภวังค์ฐานจิตเดิม

12. รับรู้การประกอบจิตใหม่ทุกรอบ

13. รับรู้ความเจริญ

14. รับรู้ความเสื่อม

15. รับรู้ความสลาย

16. รับรู้การจุติ เคลื่อนจากภพหนึ่งสู่อีกภพหนึ่ง หรือแม้ภพเดิม

17. รับรู้อุบัติ การเกิดใหม่

18. รับรู้การเสพโลกใหม่

ตลอดกระบวนการทั้งหมดนี้ มีวิญญาณธาตุเกิด-ดับนับไม่ถ้วนเพื่อ run the process เหมือนมีประจุไฟฟ้าเกิด-ดับที่หลอดไฟนับไม่ถ้วนเพื่อให้แสงสว่างดุจเดียวกัน และทุกขั้นตอนเป็นเหตุก่อผล เป็นผลก่อเหตุต่อเนื่อง จึงเรียกว่าปฏิจจ (อาศัยเกิด) สมุปบาท (ฐานความเป็นไปพร้อม)

โดยสังเขป

วิญญาณที่อายตนะในอาทิตตปริยายสูตร กับวิญญาณที่สังขารในปฏิจจสมุปบาท เป็นวิญญาณธาตุเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ความมหึมา ความพร้อมพรัก กลไกการทำงาน การเกิดดับ การบันทึก การวินิจฉัย การประกอบเจตนา การสนองตอบ การสืบต่อ การเคลื่อนสู่ภพ และการเกิดใหม่ จึงต่างกันที่ธรรม อันคือความเป็นไป

 

 
 

คำที่เกี่ยวข้อง :

วิญญาณธาตุ ปฏิจจสมุปบาท