(๑) หากว่าวาจาแม้ตั้งพันประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้
บทอันเป็นประโยชน์บทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบ ประเสริฐกว่า
วาจาที่ไม่มีโทษ ชนสรรเสริญ
(๒) วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน
องค์ ๕ ประการ คือ
วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑
เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ ๑
เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑
เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑
เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑
อานุภาพของวาจา
(๓) วาจาสุภาษิต เป็นอุดมมงคล
(๔) ความเป็นผู้มีวาจาน่ารัก (เปยยวัชชะ) เป็นธรรมเครื่องสงเคราะห์โลก (๑ ในสังคหวัตถุ ๔) ถ้าธรรมเครื่องสงเคราะห์เหล่านี้ไม่มี มารดาหรือบิดาไม่พึงได้ความนับถือหรือบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร ก็เพราะเหตุที่บัณฑิตพิจารณาเห็นธรรมเครื่องสงเคราะห์เหล่านี้ พวกเขาจึงถึงความเป็นใหญ่ และเป็นที่น่าสรรเสริญ
วาจาเป็นธรรมเครื่องผูกมิตร
(๕) การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง เป็นอาหารของมิตรทั้งหลาย
พูดอย่างใด ทำอย่างนั้น
(๖) บุคคลทำอย่างใด พึงพูดอย่างนั้น ไม่ทำอย่างใด ไม่พึงพูดอย่างนั้น
บัณฑิตทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ว่า บุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด นั้นมีมาก
ดอกไม้งาม มีสีแต่ไม่มี กลิ่น ฉันใด วาจาอันเป็นสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำอยู่ ก็ฉันนั้น
ดอกไม้งาม มีสี มีกลิ่น ฉันใด วาจาอันเป็นสุภาษิตย่อมมีผลแก่บุคคลผู้ทำอยู่
วาจาที่ควรพูด - ไม่ควรพูด
(๗) บุคคลควรพูดแต่วาจาที่ไม่ยังตนให้เดือดร้อนเท่านั้น อนึ่ง วาจาใดที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น วาจานั้นแลเป็นวาจาสุภาษิตแ
บุคคลควรพูดแต่วาจาที่น่ารักใคร่ ทั้งเป็นวาจาที่ทำให้ร่าเริงได้ ไม่พึงยึดถือวาจาชั่วช้าของคนอื่น พึงกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รัก
คำสัตย์ เป็นวาจาไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของเก่า สัตบุรุษทั้งหลายตั้งอยู่แล้วในคำสัตย์ ทั้งที่เป็นอรรถ เป็นธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด เป็นพระวาจาปลอดภัย พระวาจานั้นเป็นไปเพื่อบรรลุนิพพาน เพื่อทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ พระวาจานั้นแลเป็นวาจาสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย
(๘) ไม่กล่าววาจาเกี่ยวด้วยมุสาวาท ไม่กล่าววาจาส่อเสียด อันทำความแตกร้าวกัน ไม่กล่าววาจาอันเกิดแต่ความแข่งดีกัน ไม่มุ่งความชนะ
กล่าวแต่วาจาซึ่งไตร่ตรองด้วยปัญญา อันควรฝังไว้ในใจตามกาลอันควร
ไม่เป็นคนพูดหลอกลวง ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดหว่านล้อม ไม่พูดและเล็ม
(๙) วาจาใด เป็นปม เป็นกาก เผ็ดร้อนต่อผู้อื่น เกี่ยวผู้อื่นไว้ ยั่วให้โกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ละวาจาเช่นนั้นเสีย
วาจาใด ไร้โทษ สบายหู ไพเราะ จับใจ เป็นวาจาของชาวเมืองเป็นที่ยินดีเจริญใจของชนหมู่มาก กล่าววาจาเช่นนั้น
(๑๐) เมื่อเสพความประพฤติทางวาจาเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ความประพฤติทางวาจาเช่นนี้ ไม่ควรเสพ
และเมื่อเสพความประพฤติทางวาจาเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ความประพฤติทางวาจาเช่นนี้ ควรเสพ
(๑๑) ผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น
(๑๒) เธอทั้งหลายจงอย่าพูดถ้อยคำแก่งแย่งกันว่า
ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านรู้จักทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร
ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก
ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์
คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน
ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ
เธอทั้งหลายจงอย่าพูดดิรัจฉานกถา ซึ่งมีหลายอย่าง คือ
พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น
เพราะถ้อยคำเหล่านี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน
ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะพูด พึงพูดว่า
นี้ทุกข์
นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
เพราะถ้อยคำนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน
(๑๓) อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงยุยงให้เราแตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด พึงพูดกะเราด้วยคำหยาบ พึงพูดกะเราด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา
อนึ่ง เราพึงยุยงคนอื่นให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด หรือพึงพูดกะคนอื่นด้วยคำหยาบ หรือพึงพูดกะคนอื่นด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น
ธรรมข้อใดไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น
ธรรมข้อใดไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร
อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากวาจาทุจริตดังกล่าวด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้เว้นจากวาจาทุจริตดังกล่าวด้วย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นวาจาทุจริตดังกล่าวด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้
(๑๔) ภิกษุใดชอบด่า ชอบบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ ชอบติเตียนพระอริยเจ้า ภิกษุนั้นพึงหวังได้โทษ ๕ ประการ คือ
เธอย่อมต้องอาบัติปาราชิก ขาดทางบรรลุโลกุตรธรรม ๑
ย่อมต้องอาบัติที่เศร้าหมองอย่างอื่น ๑
ย่อมได้รับโรคเรื้อรังอย่างหนัก ๑
ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑
เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑
ไม่พูดเรื่องที่ควรปิดบัง
(๑๕) ภัยเกิดจากตนเอง ย่อมตามถึงบุคคลผู้ไร้ปัญญา พูดพล่อย ๆ ไม่ปิดบังความรู้ หาความระวังมิได้ ไม่มีการพิจารณา
นรชนใดยินดีบอกมนต์ลับที่ตนควรจะรักษาเพราะความหลง ภัยย่อมตามถึงนรชนนั้นผู้มีมนต์อันแพร่งพรายแล้วโดยพลัน
มิตรเทียมไม่ควรจะให้รู้เหตุสำคัญอันลึกลับ ถึงเป็นมิตรแท้แต่เป็นคนโง่ หรือมีปัญญาแต่ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรจะให้รู้ความลับเหมือนกัน
นรชนใดสำคัญว่า ผู้นี้มีใจดี บอกความลับกะคนสกุลทราม นรชนนั้นเป็นคนโง่เขลา ทรุดโทรมลงโดยไม่ต้องสงสัย เพราะโทสาคติ ภยาคติ หรือเพราะฉันทาคติ
ผู้ใดปากบอน นับเข้าในพวกอสัตบุรุษ ชอบกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมชน นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ผู้มีปากชั่วร้ายคล้ายอสรพิษ บุคคลควรระมัดระวังคนเช่นนั้นเสียให้ห่างไกล
เมื่อรังเกียจว่ามนต์จะแตกก็ไม่ควรบอกความลับสำคัญแม้แก่มารดา บิดา พี่สาว น้องสาว พี่ชาย น้องชาย สหาย หรือพวกพ้องเลย
ถ้าภรรยาสาวพูดเพราะ ถึงพร้อมด้วยบุตรธิดา รูปและยศ ห้อมล้อมด้วยหมู่ญาติ พึงกล่าวอ้อนวอนสามีให้บอกความลับ เมื่อรังเกียจว่ามนต์จะแตก ก็ไม่ควรบอกความลับสำคัญแม้แก่ภรรยานั้น
บุคคลไม่ควรเปิดเผยความลับเลย ควรรักษาความลับนั้นไว้เหมือนรักษาขุมทรัพย์ไว้ ความลับอันบุคคลอื่นรู้เข้า ทำให้แพร่งพรายแล้วไม่ดีเลย
บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี ศัตรู คนมุ่งอามิส และคนผู้มุ่งหมายล้วงดวงใจ
คนใดให้คนโง่เขลารู้ความลับ ถึงแม้คนโง่เขลานั้นจะเป็นทาสของตน ก็จำต้องอดกลั้นไว้ เพราะกลัวความคิดจะแตก
คนมีประมาณเท่าใดรู้ความลับที่ปรึกษากันของบุรุษ คนประมาณเท่านั้น ย่อมขู่ให้บุรุษนั้นหวาดเสียวได้ เพราะเหตุนั้นจึงไม่ควรขยายความลับ
กลางวันก็ดี กลางคืนก็ดี ควรพูดเปิดเผย ความลับในที่สงัด ไม่ควรเปล่งวาจาให้ล่วงเวลา เพราะคนที่คอยแอบฟังก็จะได้ยินข้อความที่ปรึกษากัน เพราะเหตุนั้น ข้อความที่ปรึกษากัน ก็จะถึงความแพร่งพรายทันที
ผู้มีความคิดอันลี้ลับต้องไม่พูดแพร่งพราย มั่นคงในประโยชน์ของตน ย่อมหลีกจากศัตรูเหล่านั้นแต่ไกล เหมือนหมู่มนุษย์หลีกจากอสรพิษแต่ไกล ฉะนั้น
พูดในกาลที่ควรพูด
(๑๖) เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด ผู้ใดพูดเกินกาลไป ผู้นั้นย่อมถูกทำร้าย ดุจลูกนกดุเหว่า
มีดที่ลับคมดีแล้ว ดุจยาพิษอันร้ายแรง หาทำให้ตกไปทันทีทันใด เหมือนวาจาทุพภาษิตไม่ เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้ ทั้งในกาลควรพูดและไม่ควร ไม่ควรพูดให้ล่วงเวลา แม้ในบุคคลผู้เสมอกับตน
ผู้ใดมีความคิดเห็นเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะในกาลที่ควรพูด ผู้นั้นย่อมจับศัตรูได้ทั้งหมด ดุจครุฑจับนาคได้
พูดแต่พอประมาณ
(๑๗) โทษ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก คือ
พูดเท็จ ๑
พูดส่อเสียด ๑
พูดคำหยาบ ๑
พูดเพ้อเจ้อ ๑
เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑
อานิสงส์ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ คือ
ไม่พูดเท็จ ๑
ไม่พูดส่อเสียด ๑
ไม่พูดคำหยาบ ๑
ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๑
เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
พึงพิจารณาก่อนพูด
(๑๘) การพิจารณาสิ่งที่ควรพูดของพระผู้มีพระภาค
วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย
(๑๙) พุทโธวาทในการพิจารณาและชำระวจีกรรม
บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงทำกรรมด้วยวาจา
เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา เธอพึงพิจารณาวจีกรรมนั้นเสียก่อนว่า (ก่อนพูด)
วจีกรรมนั้นเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอไม่ควรทำโดยส่วนเดียว
แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า วจีกรรมของเรานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นผล ดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอควรทำ
แม้เมื่อเธอกำลังทำกรรมวาจา เธอก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้นแหละว่า (ขณะพูด)
เราทำอยู่ซึ่งวจีกรรมใด วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น กรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกวจีกรรมเห็นปานนั้นเสีย
แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่าเราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มวจีกรรมเห็นปานนั้น
แม้เธอทำกรรมด้วยวาจาแล้ว เธอก็พึงพิจารณาจีกรรมนั้นแหละว่า (หลังพูด)
เราได้ทำแล้วซึ่งวจีกรรมใด วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้นในพระศาสนาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้วิญญู ครั้นแล้วพึงสำรวมต่อไป
แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งวจีกรรมใด วจีกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยวจีกรรมนั้นแหละ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ชำระวจีกรรม สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดพิจารณาอย่างนี้นั่นเอง
(๒๐) บุคคลไม่พิจารณาใคร่ครวญก่อน แล้ว
กล่าวสรรเสริญบุคคลที่ไม่ควรสรรเสริญ ๑
กล่าวติเตียนบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมาโยนลง
บุคคลพิจารณาใคร่ครวญก่อน แล้ว
ติเตียนบุคคลที่ควรติเตียน ๑
สรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมา
ธรรมที่ควรพิจารณาก่อนตักเตือน/โจทผู้อื่น
(๒๑) ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งพึงมีอาบัติ มีวิติกกมโทษ พวกเธออย่าเพิ่งโจทภิกษุรูปนั้นด้วยข้อโจท พึงใคร่ครวญบุคคลก่อนว่า ด้วยอาการนี้
ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา
และความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่มีทิฐิมั่น ยอมสละคืนได้ง่าย
และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด
อนึ่ง ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า
ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา
แต่ความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น แต่ยอมสละคืนได้ง่าย
และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
ก็เรื่องความขัดใจของบุคคลผู้ต้องอาบัตินี้ เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลนั่นแล เป็นเรื่องใหญ่กว่า
ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด
อนึ่ง ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า
ความลำบากจักมีแก่เรา
แต่ความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ แต่มีทิฐิมั่น ยอมสละคืนได้ง่าย
และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
ก็เรื่องความลำบากของเรา เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้นั่นแล เป็นเรื่องใหญ่กว่า
ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด
ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า
ความลำบากจักมีแก่เรา
และความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น สละคืนได้ยาก
แต่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ ก็
เรื่องความลำบากของเราและความขัดใจของบุคคลผู้ต้องอาบัตินี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้นั่นแล เป็นเรื่องใหญ่กว่า
ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ก็ควรพูด
แต่ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ว่า
ความลำบากจักมีแก่เรา
และความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น สละคืนได้ยาก
ทั้งเราก็ไม่อาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
พวกเธอก็ต้องไม่ละเลยอุเบกขาในบุคคลเช่นนี้
(๒๒) ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตน แล้วจึงโจทผู้อื่น
ธรรม ๕ ประการ คือ
ผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า
๑. เราเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบด้วยกายสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่
หากว่าภิกษุมิได้เป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์ มิได้เป็นผู้ประกอบด้วยกายสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่าเชิญท่านจงศึกษาความประพฤติทางกายเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น
๒. เราเป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบด้วยวจีสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
หากว่าภิกษุมิได้เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ มิได้ประกอบด้วยวจีสมาจารอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่บกพร่องไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่าเชิญท่านจงศึกษาความประพฤติทางวาจาเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น
๓. เราเข้าไปตั้งเมตตาจิต ไม่อาฆาตไว้ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายแล้วหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ
หากว่าภิกษุไม่เข้าไปตั้งเมตตาจิต ไม่อาฆาตไว้ในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงเข้าไปตั้งเมตตาจิตไว้ในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น
๔. เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ หากภิกษุไม่เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ ไม่เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงไซร้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านจงเล่าเรียนคัมภีร์เสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น
๕. เราจำปาติโมกข์ทั้ง ๒ ได้ดีแล้ว จำแนกดีแล้ว ให้เป็นไปดีแล้วโดยพิสดาร วินิจฉัยดีแล้วโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ หากว่าภิกษุเป็นผู้ไม่จำปาติโมกข์ทั้ง ๒ ได้ดีแล้ว มิได้จำแนกดีแล้ว มิได้ให้เป็นไปดีแล้วโดยพิสดาร มิได้วินิจฉัยด้วยดีโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ ภิกษุนั้นถูกถามว่า ท่านผู้มีอายุ สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วในที่ไหน ดังนี้ แก้ไม่ได้ จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นว่า เชิญท่านศึกษาวินัยเสียก่อนเถิด จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้น
ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการนี้ ในตน คือ
จักกล่าวโดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร ๑
จักกล่าวด้วยคำจริง จักไม่กล่าวด้วยคำไม่จริง ๑
จักกล่าวด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ ๑
จักกล่าวด้วยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยคำอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
จักมีเมตตาจิตกล่าว จักไม่เพ่งโทษกล่าว ๑
ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการนี้ในตน พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในตนแล้วจึงโจทผู้อื่น
เลือกพูดในสิ่งที่เหมาะกับผู้ฟัง
(๒๓) ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวก ย่อมเป็นถ้อยคำไม่ดี เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล คือ
ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ไม่มีศรัทธา ๑
ถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ทุศีล ๑
ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ได้สดับน้อย ๑
ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ตระหนี่ ๑
ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ทรามปัญญา ๑
ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ไม่มีศรัทธา เพราะผู้ไม่มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธา ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เพราะผู้ไม่มีศรัทธาย่อมไม่เห็นศรัทธาสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีศรัทธาสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ทุศีล เพราะผู้ทุศีล เมื่อพูดเรื่องศีลย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เพราะผู้ทุศีลย่อมไม่เห็นศีลสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติและปราโมทย์ที่มีศีลสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ได้สดับน้อย เพราะผู้ได้สดับน้อย เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เพราะผู้ได้สดับน้อยนั้น ย่อมไม่เห็นสุตสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทาเป็นเหตุ
ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ตระหนี่ เพราะผู้ตระหนี่ เมื่อพูดเรื่องจาคะ ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ พราะผู้ตระหนี่นั้นย่อมไม่เห็นจาคสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำไม่ดีแก่ผู้ทรามปัญญา เพราะผู้ทรามปัญญา เมื่อพูดเรื่องปัญญาย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เพราะผู้ทรามปัญญานั้นย่อมไม่เห็นปัญญาสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวก ย่อมเป็นถ้อยคำดี เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล คือ
ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา ๑
ถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศีล ๑
ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้ได้สดับมาก ๑
ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีจาคะ ๑
ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีปัญญา ๑
ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา เพราะผู้มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธา ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เพราะผู้มีศรัทธาย่อม
เห็นศรัทธาสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีศรัทธาสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศีล เพราะผู้มีศีลเมื่อพูดเรื่องศีล ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีศีลย่อมเห็นศีลสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีศีลสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้ได้สดับมาก เพราะผู้ได้สดับมาก เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เพราะผู้ได้สดับมากย่อมเห็นสุตสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีจาคะ เพราะผู้มีจาคะ เมื่อพูดเรื่องจาคะ ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เพราะผู้มีจาคะย่อมเห็นจาคะสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ
ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีปัญญา เพราะผู้มีปัญญา เมื่อพูดเรื่องปัญญา ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เพราะผู้มีปัญญานั้น ย่อมเห็นปัญญาสัมปทาในตนและย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ
การตั้งจิตในการแสดงธรรม
(๒๔) การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
๕ ประการเป็นไฉน
ภิกษุพึงตั้งใจว่า
เราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑
เราจักแสดงอ้างเหตุผล ๑
เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑
เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑
เราจักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น ๑
แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
การไม่ยกยอ ไม่ตำหนิ แสดงแต่ธรรมเท่านั้น
(๒๕) ก็อย่างไร ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้ คือ
เมื่อกล่าวว่า
ชนเหล่าใดตามประกอบความประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่า ตำหนิชนพวกหนึ่ง
กล่าวว่า
อันความตามประกอบนี้ เป็นธรรม มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
เมื่อกล่าวว่า
ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่า ยกยอชนพวกหนึ่ง
กล่าวว่า
อันความตามประกอบนี้ เป็นธรรม มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
เมื่อกล่าวว่า
ชนเหล่าใดประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่า ตำหนิชนพวกหนึ่ง
อันความตามประกอบนี้ เป็นธรรม มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
เมื่อกล่าวว่า
ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่า ยกยอชนพวกหนึ่ง
กล่าวว่า
อันความตามประกอบนี้ เป็นธรรม มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
เมื่อกล่าวว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่า ตำหนิชนพวกหนึ่ง
กล่าวว่า
เมื่อยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละไม่ได้ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
เมื่อกล่าวว่า
ชนเหล่าใดละสัญโญชน์ในภพได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่า ยกยอชนพวกหนึ่ง
กล่าวว่า
ก็เมื่อละสัญโญชน์ในภพได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละได้ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
อย่างนี้ ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้
การยกยอ การตำหนิ และไม่ใช่เป็นการแสดงธรรม นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลส
แต่การไม่ยกยอ การไม่ตำหนิ การแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลส
ไม่พูดลับหลัง ไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า
วาทะลับหลังซึ่งไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลส
แม้วาทะลับหลังซึ่งจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ก็ยังมีกิเลส
ส่วนวาทะลับหลังซึ่งจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลส
คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลส
แม้คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลส
แต่คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลส
ไม่รีบพูด
เมื่อรีบด่วนพูด กายก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูด ก็ไม่สละสลวย ไม่พึงรู้ชัดได้
เมื่อไม่รีบด่วนพูด กายไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ แม้คำพูดของผู้ที่ไม่รีบด่วนพูด ก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้
คำที่ผู้รีบด่วนพูด นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลส
แต่คำที่ผู้ไม่รีบด่วนพูด นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลส
ใช้คำที่คนเข้าใจ
ภาชนะนั่น ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปาตี ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปัตตะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า ปิฏฐะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า สราวะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หโลสะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า โปณะ ในบางชนบท เขาหมายรู้ว่า หนะ ในบางชนบทเขาหมายรู้ว่า ปิปิละ ภิกษุพูดปรักปรำโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะนั้นกันในชนบทนั้น ๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ
เมื่อภิกษุพูดโดยประการที่ชนทั้งหลายหมายรู้เรื่องภาชนะกันในชนบทนั้น ๆ อย่างไม่ยึดมั่นว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลายพูดแก่ข้าพเจ้าหมายถึงภาชนะนี้ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ
การปรักปรำภาษาชนบทและการล่วงเลยคำพูดสามัญ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลส
แต่การไม่ปรักปรำภาษาชนบท และการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ
การตั้งจิตในการฟัง
(๒๖) ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ
กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑
กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑
กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย ๑
กล่าวด้วยคำมีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ ๑
มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑
เมื่อคนอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควร หรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริง หรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน หรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำมีประโยชน์ หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตา หรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้ เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล
(๒๗) สัตว์ทั้งหลายผู้มีความสำคัญในเรื่องที่พูดกัน ตั้งอยู่เฉพาะแล้วในเรื่องที่พูดกัน ย่อมเข้าถึงข่าย คือ ความฉิบหาย และข่าย คือ กิเลสเครื่องประกอบแห่งมัจจุ เพราะไม่กำหนดรู้เรื่องที่พูดกัน
พระขีณาสพย่อมไม่สำคัญผู้พูด เพราะกำหนดรู้เรื่องที่พูดกัน เพราะท่านถูกต้องวิโมกข์ด้วยใจ ท่านถูกต้องสันติบทอันยอดเยี่ยม พระขีณาสพนั้นแล ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยเรื่องที่พูดกัน ผู้ระงับแล้ว ยินดีแล้วในสันติบท พิจารณาแล้วมีปกติเสพ ตั้งอยู่ในธรรม ผู้ถึงฝั่งแห่งเวท คือ สัจจะ ๔ ย่อมไม่เข้าถึงการนับว่าเป็นมนุษย์และเทวดา
(๒๘) ชนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว แต่ความอดกลั้นได้ เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่
ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว เพราะการโกรธตอบนั้น
บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบอยู่ได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและแก่ผู้อื่น
เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของผู้อื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่าเป็นคนเขลา
(๒๙) ภิกษุมีเสียงดังเป็นเสียงเดียวกัน จะสำคัญตัวว่าเป็นพาล ไม่มีเลยสักรูปเดียว ยิ่งเมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ได้สำคัญเหตุอื่น
ภิกษุทั้งหลายลืมสติ สำคัญตัวว่าเป็นบัณฑิต ช่างพูด เจ้าคารม พูดไปตามที่ตนปรารถนา จะยื่นปากพูด ไม่รู้สึกว่าความทะเลาะเป็นเหตุชักพาไป
ก็คนเหล่าใดจองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ
ส่วนคนเหล่าใดไม่จองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมสงบ
แต่ไหนแต่ไรมา เวรทั้งหลายในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับเพราะไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า
ผู้ควรพูด-ไม่ควรพูด
(๓๐) ถ้าบัณฑิตรู้จักกาลแล้ว พึงประสงค์จะพูด ควรเป็นคนมีปัญญา ไม่เป็นคนเจ้าโทสะ ไม่โอ้อวด มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใจเบาหุนหันพลันแล่น ไม่เพ่งโทษ
กล่าวแต่ถ้อยคำที่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมพูดกัน และประกอบด้วยธรรมซึ่งพระอริยเจ้าพูดจากันเพราะรู้ทั่วถึงได้เป็นอย่างดี เขาจึงพาทีได้
บุคคลควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต ไม่ควรรุกรานในถ้อยคำที่กล่าวชั่ว ไม่ควรศึกษาความแข่งดี และไม่ควรยึดถือความพลั้งพลาด ไม่ควรทับถม ไม่ควรข่มขี่ ไม่ควรพูดถ้อยคำเหลาะแหละ
จะพึงทราบบุคคลว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน
ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา ไม่เฉลยโดยส่วนเดียว ซึ่งปัญหาที่ควรเฉลยโดยส่วนเดียว ไม่จำแนกเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกเฉลย ไม่สอบถามเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรสอบถามเฉลย ไม่หยุดปัญหาที่ควรหยุด บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด
แต่ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา ย่อมเฉลยโดยส่วนเดียว ซึ่งปัญหาที่ควรเฉลยโดยส่วนเดียว ย่อมจำแนกเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกเฉลย ย่อมสอบถามเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรสอบถามเฉลย ย่อมหยุดปัญหาที่ควรหยุด บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด
ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่ดำรงอยู่ในฐานะและอฐานะ ไม่ดำรงอยู่ในปริกัป (ไม่ตั้งมั่นอยู่ในการถามการตอบปัญหา) ไม่ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง ไม่ดำรงอยู่ในปฏิปทา บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด
แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ดำรงอยู่ในฐานะและอฐานะ ดำรงอยู่ในปริกัป ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง ดำรงอยู่ในปฏิปทา บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด
ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่องนอกราว แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด
แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่องนอกราว ไม่แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ บุคคลนี้ชื่อว่าควรพูด
ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดฟุ้งเฟ้อ พูดวุ่นวาย หัวเราะเยาะ คอยจับผิด บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด
แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่พูดฟุ้งเฟ้อ ไม่พูดวุ่นวาย ไม่หัวเราะเยาะ ไม่คอยจับผิด บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด
การพูด การประชุม การหารือ มีประโยชน์เมื่อทำให้จิตหลุดพ้น
ผู้ไม่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนไม่มีอุปนิสัย ผู้ที่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนมีอุปนิสัย เมื่อเขาเป็นผู้มีอุปนิสัย ย่อมจะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะละธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเขารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง กำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ละธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะถูกต้องวิมุตติโดยชอบ
การสนทนาเป็นประโยชน์ การปรึกษาหารือเป็นประโยชน์ อุปนิสัยเป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟัง เป็นประโยชน์ คือ จิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น
ชนเหล่าใดเป็นคนเจ้าโทสะ ฟุ้งซ่าน โอ้อวด เจรจา ชนเหล่านั้นมาถึงคุณที่มิใช่ของพระอริยเจ้า ต่างหาโทษของกันและกัน ชื่นชมคำทุพภาษิต ความพลั้งพลาด ความหลงลืม และความปราชัยของกันและกัน
ก็ถ้าบัณฑิตรู้จักกาลแล้ว พึงประสงค์จะพูด ควรเป็นคนมีปัญญา ไม่เป็นคนเจ้าโทสะไม่โอ้อวด มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใจเบา หุนหันพลันแล่น ไม่เพ่งโทษ กล่าวแต่ถ้อยคำที่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมพูดกัน และประกอบด้วยธรรมซึ่งพระอริยเจ้าพูดจากัน เพราะรู้ทั่วถึงได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น เขาจึงพาทีได้
บุคคลควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต ไม่ควรรุกรานในถ้อยคำที่กล่าวชั่ว ไม่ควรศึกษาความแข่งดี และไม่ควรยึดถือความพลั้งพลาด ไม่ควรทับถม ไม่ควรข่มขี่ ไม่ควรพูดถ้อยคำเหลาะแหละ
เพื่อรู้ เพื่อเลื่อมใส สัตบุรุษทั้งหลายจึงมีการปรึกษาหารือกัน พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมปรึกษาหารือกัน เช่นนั้นแล นี้การปรึกษาหารือของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมธาวีบุคคลรู้เช่นนี้แล้ว ไม่ควรถือตัว ควรปรึกษาหารือกัน
(๓๑) ผู้เป็นทูตได้
ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรไปเป็นทูตได้
ธรรม ๘ ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้รับฟัง ๑
ให้ผู้อื่นรับฟัง ๑
เรียนดี ๑
ทรงจำไว้ดี ๑
รู้เอง ๑
ให้ผู้อื่นรู้ ๑
เป็นผู้ฉลาดต่อสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ๑
ไม่ก่อการทะเลาะ ๑
สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้ ควรไปเป็นทูตได้
ภิกษุใดสอนบริษัทให้เรียนให้อ่าน ไม่สะทกสะท้าน ไม่ให้เสียคำที่พูด ไม่ให้เสียคำสอน ชี้แจงให้เขาหมดสงสัย และเมื่อถูกซักถามก็ไม่โกรธ ภิกษุเช่นนี้ ควรไปเป็นทูตได้
(๓๒) ภิกษุผู้ควรพูด - ไม่ควรพูด ท่ามกลางสงฆ์
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่รู้อาบัติ
๒. ไม่รู้สมุฏฐานอาบัติ
๓. ไม่รู้ประโยคอาบัติ
๔. ไม่รู้ความระงับอาบัติ
๕. ไม่ฉลาดในการวินิจฉัยอาบัติ
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. รู้อาบัติ
๒. รู้สมุฏฐานอาบัติ
๓. รู้ประโยคอาบัติ
๔. รู้ความระงับอาบัติ
๕. ฉลาดในการวินิจฉัยอาบัติ
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่รู้อธิกรณ์
๒. ไม่รู้สมุฏฐานอธิกรณ์
๓. ไม่รู้ประโยคอธิกรณ์
๔. ไม่รู้ความระงับอธิกรณ์
๕. ไม่ฉลาดในการวินิจฉัยอธิกรณ์
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. รู้อธิกรณ์
๒. รู้สมุฏฐานอธิกรณ์
๓. รู้ประโยคอธิกรณ์
๔. รู้ความระงับอธิกรณ์
๕. ฉลาดในการวินิจฉัยอธิกรณ์
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. พูดข่มขู่
๒. พูดไม่ให้โอกาสผู้อื่น
๓. ไม่โจทตามอาบัติในธรรมและวินัยอันสมควร
๔. ไม่ปรับตามอาบัติในธรรมและวินัยอันสมควร
๕. ไม่ชี้แจงตามความเห็น
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่พูดข่มขู่
๒. พูดให้โอกาสผู้อื่น
๓. โจทตามอาบัติในธรรมและวินัยอันสมควร
๔. ปรับตามอาบัติในธรรมและวินัยอันสมควร
๕. ชี้แจงตามความเห็น
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่รู้อาบัติและอนาบัติ
๒. ไม่รู้อาบัติเบาและอาบัติหนัก
๓. ไม่รู้อาบัติมีส่วนเหลือและอาบัติหาส่วนเหลือมิได้
๔. ไม่รู้อาบัติชั่วหยาบและอาบัติไม่ชั่วหยาบ
๕. ไม่รู้อาบัติที่ทำคืนได้และทำคืนไม่ได้
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. รู้อาบัติและอนาบัติ
๒. รู้อาบัติเบาและอาบัติหนัก
๓. รู้อาบัติมีส่วนเหลือและอาบัติหาส่วนเหลือมิได้
๔. รู้อาบัติชั่วหยาบและอาบัติไม่ชั่วหยาบ
๕. รู้อาบัติที่ทำคืนได้และทำคืนไม่ได้
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่รู้กรรม
๒. ไม่รู้การทำกรรม
๓. ไม่รู้วัตถุของกรรม
๔. ไม่รู้วัตรของกรรม
๕. ไม่รู้ความระงับกรรม
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. รู้กรรม
๒. รู้การทำกรรม
๓. รู้วัตถุของกรรม
๔. รู้วัตรของกรรม
๕. รู้ความระงับกรรม
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่รู้วัตถุ
๒. ไม่รู้นิทาน
๓. ไม่รู้บัญญัติ
๔. ไม่รู้บทที่ตกในภายหลัง
๕. ไม่รู้ทางถ้อยคำอันเข้าสนธิกันได้
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. รู้วัตถุ
๒. รู้นิทาน
๓. รู้บัญญัติ
๔. รู้บทที่ตกในภายหลัง
๕. รู้ทางถ้อยคำอันเข้าสนธิกันได้
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่ควรพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ถึงฉันทาคติ
๒. ถึงโทสาคติ
๓. ถึงโมหาคติ
๔. ถึงภยาคติ
๕. เป็นอลัชชี
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่ถึงฉันทาคติ
๒. ไม่ถึงโทสาคติ
๓. ไม่ถึงโมหาคติ
๔. ไม่ถึงภยาคติ
๕. เป็นลัชชี
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ถึงฉันทาคติ
๒. ถึงโทสาคติ
๓. ถึงโมหาคติ
๔. ถึงภยาคติ
๕. ไม่ฉลาดในวินัย
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่ถึงฉันทาคติ
๒. ไม่ถึงโทสาคติ
๓. ไม่ถึงโมหาคติ
๔. ไม่ถึงภยาคติ
๕. ฉลาดในวินัย
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่รู้ญัตติ
๒. ไม่รู้การทำญัตติ
๓. ไม่รู้อนุสาวนาแห่งญัตติ
๔. ไม่รู้สมถะแห่งญัตติ
๕. ไม่รู้ความระงับแห่งญัตติ
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. รู้ญัตติ
๒. รู้การทำญัตติ
๓. รู้อนุสาวนาแห่งญัตติ
๔. รู้สมถะแห่งญัตติ
๕. รู้ความระงับแห่งญัตติ
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่รู้สุตตะ
๒. ไม่รู้สุตตานุโลม
๓. ไม่รู้วินัย
๔. ไม่รู้วินยานุโลม
๕. ไม่ฉลาดในฐานะและอฐานะ
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. รู้สุตตะ
๒. รู้สุตตานุโลม
๓. รู้วินัย
๔. รู้วินยานุโลม
๕. ฉลาดในฐานะและอฐานะ
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. ไม่รู้ธรรม
๒. ไม่รู้ธรรมานุโลม
๓. ไม่รู้วินัย
๔. ไม่รู้วินยานุโลม
๕. ไม่ฉลาดในคำต้นและคำปลาย
ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ พึงพูดในสงฆ์ องค์ ๕ คือ
๑. รู้ธรรม
๒. รู้ธรรมานุโลม
๓. รู้วินัย
๕. ฉลาดในคำต้นและคำปลาย
(๓๓) ไม่ควรเป็นผู้พูดเพียงเพราะมีอายุมาก
ถ้าแม้บุคคลผู้เฒ่ามีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่เกิดมา แต่เขามีปรกติพูดในกาลไม่สมควร พูดไม่จริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาที่ไม่ควรจดจำไว้ ไม่มีหลักฐาน ไม่มีขอบเขต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่ควร เขาย่อมถึงซึ่งกาลนับว่าเป็นเถระผู้เขลาโดยแท้
ถ้าแม้เด็กกำลังรุ่น มีผมดำสนิท ยังหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัยมแต่มีปรกติพูดในกาลอันควร พูดจริง พูดเป็นประโยชน์ พูดเป็นธรรม พูดเป็นวินัย กล่าววาจาที่ควรจดจำ มีหลักฐาน มีขอบเขต ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร เขาย่อมถึงซึ่งกาลนับว่า เป็นเถระผู้ฉลาดโดยแท้
ผู้ใดมีจิตฟุ้งซ่าน มีความดำริไม่มั่นคง ยินดีในธรรมของอสัตบุรุษ ย่อมกล่าวคำเพ้อเจ้อเป็นอันมาก
ตัวอย่างอานุภาพของวาจา
(๓๔) พูดวาจาอันเป็นที่รัก
พระราชาทรงพระนามว่าปายาสิ ถึงความเป็นสหายของภุมมเทวดา บันเทิงอยู่ในวิมานของตน เป็นเทวดาแต่ได้มาปราศรัยกับพวกมนุษย์
เสริสสกเทพบุตรกล่าววัตรและพรหมจรรย์ที่ทำไว้ในอดีต ที่ส่งผลให้เกิดมาเป็นเทวดาพร้อมวิมานอันวิจิตรแก่พวกพ่อค้าว่า
ข้าพเจ้ามีนามว่าปายาสิ เมื่อครั้งข้าพเจ้าเสวยสมบัติในแคว้นโกศล มีความเห็นผิดว่าไม่มี มีควาตระหนี่เหนี่ยวแน่น มีธรรมอันลามกมีปรกติกล่าวว่าขาดสูญ สมณะนามว่า กุมารกัสสป ได้แสดงธรรมกถาแก่ข้าพเจ้า ได้บรรเทาทิฏฐิผิดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมกถาของท่านนั้นแล้ว ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน สันโดษยินดีด้วยภรรยาของตน ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา ข้อนั้นเป็นวัตรและเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า นี้เป็นวิบากแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมไว้ วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาเพราะบุญกรรมอันดีงามนั้น
พวกพ่อค้าถามว่า ได้ยินว่า ถ้อยคำของนรชนผู้มีปัญญา เป็นบัณฑิต ที่ได้พูดไว้เป็นคำจริง ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่นว่า บุคคลผู้ทำบุญจะไปในที่ใด ๆ ย่อมได้ตามความปรารถนา บันเทิงใจในที่นั้น ๆ ความเศร้าโศก ความร่ำไร การเบียดเบียน การจองจำ ความเศร้าหมอง มีอยู่ในที่ใด ๆ คนทำบาปย่อมไม่พ้นจากทุคติในกาลไหน ๆ
เพราะเหตุใดหนอ ความโทมนัสจึงได้บังเกิดแก่เทวดาผู้เป็นบริวารของท่านนี้และแก่ท่าน ดุจคนผู้หลงใหลฟั่นเฟือน และดุจน้ำอันขุ่นในครู่เดียวนี้
เสริสสกเทพบุตรตอบว่า
แน่ะพ่อทั้งหลาย ป่าไม้ซึกเหล่านี้เป็นทิพย์มีกลิ่นหอมฟุ้งตระหลบไปทั่ววิมานนี้ ใช่แต่เท่านั้น ป่าไม้ซึกนี้ยังกำจัดความมืดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ล่วงไปร้อยปี เปลือกฝักแห่งต้นซึกนี้จึงจะสุกหล่นลงครั้งหนึ่ง ๆ เป็นอันรู้ว่าร้อยปีของมนุษย์ล่วงไปแล้ว
ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดในเทพนี้ จักตั้งอยู่ในวิมานนี้ตลอด ๕๐๐ ปีทิพย์ แล้วจึงจุติ เพราะสิ้นอายุ เพราะสิ้นบุญ ข้าพเจ้าสยบซบเซาเพราะความเศร้าโศกนั้นนั่นแล.
พวกพ่อค้ากล่าวว่า
ท่านได้วิมานนี้มานาน จะนับประมาณมิได้ เมื่อท่านเป็นเช่นนั้น จะเศร้าโศกไปทำไมเล่า ก็แหละคนที่มีบุญน้อย เข้าอยู่วิมานนี้นิดหน่อย ควรเศร้าโศกแน่แท้ แต่ท่านมีอายุถึง ๙ ล้านปีของมนุษย์ จะเศร้าโศกไปทำไมเล่า ท่านอย่าเศร้าโศกไปเลย
เสริสสกเทพบุตรกล่าวว่า
การที่ท่านทั้งหลายกล่าวตักเตือนข้าพเจ้าด้วยวาจาอันเป็นที่รักนั้น สมควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตามรักษาพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงไปโดยสวัสดียังที่ที่ท่านทั้งหลายปรารถนาเถิด
(๓๕) ตายเพราะปาก
ครั้งนั้น ดาบสผู้หนึ่งเป็นโรคผอมเหลือง ถือพร้าไปผ่าไม้ ครั้งนั้น ดาบสปากกล้าผู้หนึ่ง นั่งอยู่ใกล้ ๆ ดาบสผอมนั้น พูดว่า จงฟันในที่นี้ จงฟันในที่นี้ ทำให้ดาบสผอมนั้นขัดเคือง เธอโกรธแล้วกล่าวว่า
เดี๋ยวนี้ท่านไม่ใช่อาจารย์ฝึกหัดศิลปะในการผ่าฟืนของเรานะ แล้วเงื้อพร้าอันคม ฟันทีเดียวเท่านั้น ทำให้ดาบสปากกล้าถึงสิ้นชีวิต
ในครั้งนั้น ที่เชิงจอมปลวกแห่งหนึ่ง ไม่ไกลอาศรมบท นกกระทาตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ทุกเช้า ทุกเย็น มันยืนอยู่บนยอดจอมปลวก ขันเสียงดังลั่น
พรานผู้หนึ่งฟังเสียงนั้นแล้วคิดว่า น่าจะมีนกกระทา จึงสะกดไปด้วยหมายเสียงเป็นสำคัญ ฆ่ามันแล้ว ถือเอาไป
พระโพธิสัตว์ไม่ได้ยินเสียงมัน ถามพวกดาบสว่าที่ตรงโน้นมีนกกระทาอาศัยอยู่ เพราะเหตุไรเล่า จึงไม่ได้ยินเสียงมัน พวกดาบสบอกเรื่องนั้นแก่พระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์เทียบเคียงเหตุการณ์ทั้งสองแล้ว กล่าวคาถานี้ ในท่ามกลางหมู่ฤๅษีความว่า
วาจาที่ดังเกินไป
ความเป็นผู้รุนแรงเกินไป
พูดล่วงเวลา
ย่อมฆ่าผู้มีปัญญาทรามเสีย
ดุจวาจาที่ฆ่านกกระทาผู้ขันดังเกินไป ฉะนั้น
ดู สัมมาวาจา
(๒๙) เรื่องทีฆาวุกุมาร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ ข้อที่ ๒๔๗