Main navigation
สัมมาวาจา
Share:

(๑) ก็สัมมาวาจาเป็นไหน

เจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ
เจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
เจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูดคำหยาบ
เจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

นี้เรียกว่า สัมมาวาจา


(๒) การงด การเว้น การเลิกละ เจตนาเครื่องเว้น จากวจีทุจริต ๔

กิริยาไม่ทำ การไม่ทำ การไม่ล่วงละเมิด การไม่ล้ำเขต การกำจัดต้นเหตุ วจีทุจริต ๔

วาจาชอบ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี้เรียกว่า สัมมาวาจา


วจีทุจริต เป็นไฉน

มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ นี้เรียกว่า วจีทุจริต

(๓)  มุสาวาท (การพูดเท็จ ถ้อยคำเหม็นเหมือนคูถ) คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กล่าวเท็จ คือ ไปในที่ประชุมหรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใดก็จงบอกเรื่องนั้น

เขาเมื่อไม่รู้ บอกว่ารู้บ้าง รู้อยู่ บอกว่าไม่รู้บ้าง ไม่เห็น บอกว่าเห็นบ้าง เห็นอยู่ บอกว่าไม่เห็นบ้าง พูดเท็จทั้ง ๆ รู้ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุคนอื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง 

ปิสุณาวาจา (การพูดส่อเสียด) คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ส่อเสียด คือ เมื่อได้ยินจากฝ่ายนี้แล้วบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ยินจากฝ่ายโน้นแล้ว บอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น

เมื่อเขาพร้อมเพรียงกัน ก็ยุให้แตกกันเสีย หรือเมื่อเขาแตกกันแล้ว ก็ช่วยส่งเสริม

ชอบเป็นพรรคเป็นพวก ยินดีความเป็นพรรคเป็นพวก ชื่นชมความเป็นพรรคเป็นพวก เป็นผู้กล่าวคำทำให้เป็นพรรคเป็นพวก

ผรุสวาจา (การพูดคำหยาบ) คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือ การกล่าววาจาที่มีโทษ หยาบคาย เผ็ดร้อน ขัดใจผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อสมาธิ

สัมผัปปลาปะ (การเจรจาเพ้อเจ้อ) คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม กล่าวไม่เป็นวินัย เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร

เมื่อเสพความประพฤติทางวาจาอย่างนี้ อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง กุศลธรรมจึงเสื่อมไป

การละเว้นจากการพูดเท็จ (ถ้อยคำหอมเหมือนดอกไม้) คือ

เมื่อไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้ รู้อยู่ ก็บอกว่ารู้ ไม่เห็น ก็บอกว่าไม่เห็น เห็นอยู่ ก็บอกว่าเห็น ไม่เป็นผู้พูดเท็จทั้ง ๆ รู้ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุคนอื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง

การละวาจาส่อเสียด คือ

เมื่อได้ยินจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่บอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ยินจากฝ่ายโน้นแล้ว ไม่บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น

เมื่อเขาแตกกันแล้ว ก็สมานให้ดีกัน หรือเมื่อเขาดีกันอยู่ ก็ช่วยส่งเสริม

ชอบความพร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมในคนที่พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้กล่าววาจาสมานสามัคคี

การละวาจาหยาบ (ถ้อยคำหวานปานน้ำผึ้ง) คือ

เป็นผู้กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักใคร่จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมากปรารถนาและชอบใจ

การละการเจรจาเพ้อเจ้อ คือ

การกล่าวถูกกาละ กล่าวตามเป็นจริง กล่าวอรรถ กล่าวธรรม กล่าววินัย เป็นผู้กล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้าง มีขอบเขต ประกอบด้วยประโยชน์ ตามกาล


ความเดือนร้อนแห่งจิตย่อมเกิดขึ้นเพราะการกล่าววจีทุจริต

(๔) ความรำคาญอันเป็นความเดือดร้อนแห่งจิต เป็นความขัดใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำและเพราะไม่กระทำ คือ

เราทำมุสาวาท เราไม่ได้ทำความงดเว้นจากมุสาวาท

เราทำปิสุณาวาจา เราไม่ได้ทำความงดเว้นจากปิสุณาวาจา

เราทำผรุสวาจา เราไม่ได้ทำความงดเว้นจากผรุสวาจา

เราทำสัมผัปปลาปะ เราไม่ได้ทำความงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ


สัมมาวาจาเป็นศีลของภิกษุ

(๕) เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ

พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด

ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน

เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ

กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ

เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ

พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร

ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา

เช่น พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม
            
ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน

เช่น ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านรู้จักทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร

ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก

ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์

คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน

ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ

ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวง และการพูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ


สัมมาวาจาที่ยังมีอาสวะและสัมมาวาจาที่ไม่มีอาสวะ

(๖) เรากล่าวสัมมาวาจาเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง

สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่างหนึ่ง

สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ คือ

เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ นี้สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์

สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค คือ

ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้น จากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค

บุคคลย่อมพยายามละมิจฉาวาจา เพื่อบรรลุสัมมาวาจา ความพยายามนั้นเป็นสัมมาวายามะ

บุคคลมีสติละมิจฉาวาจาได้ มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่ สตินั้นเป็นสัมมาสติ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาวาจาของบุคคลนั้น

เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้

ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวาจาได้ ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉาวาจาเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวาจาสลัดได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์เพราะสัมมาวาจาเป็นปัจจัย


วาจาที่มีทุกข์เป็นวิบาก วาจาที่มีสุขเป็นวิบาก

(๗) วาจา ๔ อย่าง มีวิบัติเป็นโทษ คือ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก

ก็วิบากนั้นย่อมเกิดในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไป สัตว์ทั้งหลายเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล

วาจา ๔ อย่าง เป็นสมบัติ คือ การละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ การละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด การละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ การละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก

ก็วิบากนั้นย่อมเกิดในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไป สัตว์ทั้งหลายเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะเหตุแห่งสมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล


(๘) บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมาเก็บไว้

ธรรม ๖ ประการคือ

เป็นผู้กล่าวเท็จ ๑
กล่าวส่อเสียด ๑
กล่าวคำหยาบ ๑
กล่าวคำเพ้อเจ้อ ๑
เป็นผู้โลภ ๑
และเป็นผู้คะนอง ๑

บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนมาประดิษฐานไว้

ธรรม ๖ ประการเป็น คือ

เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท ๑
จากปิสุณาวาจา ๑
จากผรุสวาจา ๖
จากสัมผัปปลาปะ ๑
เป็นคนไม่โลภ ๑
และเป็นผู้ไม่คะนอง ๑


วิบากของวจีทุจริต

(๙) มุสาวาท (วาจาเท็จ) อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

วิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการกล่าวตู่ด้วยคำไม่เป็นจริงให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

ปิสุณาวาจา (วาจาส่อเสียด) อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

วิบากแห่งปิสุณาวาจาอย่างเบาที่สุดย่อมยังการแตกจากมิตรให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

ผรุสวาจา (วาจาหยาบคาย) อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

วิบากแห่งผรุสวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมยังเสียงที่ไม่น่าพอใจให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

สัมผัปปลาปะ (วาจาเพ้อเจ้อ) อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย

วิบากแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด ย่อมยังคำไม่ควรเชื่อถือให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์ ฯ


ตัวอย่างผลกรรมทางวาจา

(๑๐) ผลบุญของการพูดจาอ่อนหวาน

พระมหาโมคคัลลานเถระได้ถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า วิมานของท่านสูงมาก ทั้งยาวและกว้าง ๑๒ โยชน์ มียอด ๗๐๐ ยอด มีเสาล้วนแล้วด้วยแก้วมณี ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญกรรมอะไร

เทพบุตรนั้นมีความปลาบปลื้มใจ จึงพยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมว่า พันปีทิพย์เป็นอายุของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าได้ทำกุศลด้วยเหตุเพียงพูดอ่อนหวาน ประพฤติด้วยใจ

บุคคลผู้ทำบุญด้วยเหตุเพียงพูดอ่อนหวานและยังใจให้เลื่อมใสเท่านี้ จักดำรงอยู่ในชั้นดาวดึงส์นี้สิ้นพันปี และพรั่งพร้อมไปด้วยทิพยกามคุณ ข้าพเจ้ามีวรรณะงามเช่นนี้เพราะบุญกรรมนั้น ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญกรรมนั้น


(๑๑) ผลบุญของการสรรเสริญพระพุทธเจ้า

ท่านพระโถมกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

เราอยู่ในเทวโลก ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวง แล้ว เบิกบานใจ ได้กล่าวคำนี้ว่า

ขอนอบน้อมแด่พระองค์ บุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่พระองค์ บุรุษสูงสุด พระองค์ทรงแสดงอมฤตบท ทรงยังชนเป็นอันมากให้ข้ามได้

ในกัลปที่ ๙๑ แต่กัลปนี้ เราได้กล่าววาจาใดในกาลนั้น ด้วยการกล่าววาจานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ


(๑๒) วิบากกรรมของการพูดเท็จและส่อเสียด

พระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า ตัวท่านทัดทรงดอกไม้ ใส่ชฎา สวมกำไลทอง ลูบไล้ด้วยจุรณจันทร์ มีสีหน้าผ่องใส งดงามดุจสีพระอาทิตย์อุทัยขึ้นมาบนอากาศ มีนางฟ้าหมื่นหนึ่งเป็นบริวารบำรุงบำเรอท่าน นางฟ้าเหล่านั้นล้วนสวมกำไลทองนุ่งห่มผ้าอันขลิบด้วยทองคำ ท่านเป็นผู้มีอานุภาพมาก มีรูปเป็นที่ให้เกิดขนชูชันแก่ผู้พบเห็น แต่ท่านจิกเนื้อที่หลังของตนกินเป็นอาหาร ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ หรือเพราะวิบากแห่งกรรมอะไร ท่านจึงจิกเนื้อหลังของตนเองกินเป็นอาหาร

เปรตนั้นตอบว่า กระผมได้ประพฤติทุจริตด้วยการส่อเสียด พูดเท็จและหลอกลวง เพื่อความฉิบหายแก่ตนในมนุษยโลก กระผมไปสู่บริษัทในมนุษยโลกนั้น
เมื่อเวลาควรจะพูดความจริงปรากฏแล้ว ละเหตุละผลเสีย ประพฤติคล้อยตามอธรรม

ผู้ใดประพฤติทุจริตมีคำส่อเสียดเป็นต้น ผู้นั้นต้องจิกเนื้อหลังของตนกิน เหมือนกระผมจิกเนื้อหลังของตนกินในวันนี้

ข้าแต่พระนารทะ ทุกข์ที่กระผมได้รับอยู่นี้ ท่านได้เห็นเองแล้ว ชนใดเป็นคนฉลาด มีความอนุเคราะห์ ชนเหล่านั้นพึงกล่าวตักเตือนว่า ท่านอย่าพูดส่อเสียด อย่าพูดเท็จ อย่าเป็นผู้มีเนื้อหลังของตนเป็นอาหารเลย


(๑๓) วิบากกรรมของการด่าทอผู้ที่กำลังทำบุญ

นางเปรตมีผิวพรรณน่าเกลียดน่ากลัว มีผมยาวห้อยลงมาจดพื้นดิน คลุมตัวด้วยผม เข้าไปหาภิกษุอยู่ในที่พักในกลางวันนั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ได้กล่าวกะภิกษุนั้นดังนี้ว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันตั้งแต่ตายมาจากมนุษยโลก ยังไม่ได้บริโภคข้าวหรือดื่มน้ำเลย ตลอดเวลา ๕๕ ปี แล้ว ขอท่านจงให้น้ำดื่มแก่ดิฉันผู้กระหายน้ำด้วยเถิด

ภิกษุนั้นกล่าวว่า แม่น้ำคงคามีน้ำเย็นใสสะอาด ไหลมาแต่ป่าหิมพานต์ ท่านจงตักเอาน้ำจากแม่น้ำคงคานั้นดื่มเถิด จะมาขอน้ำกะเราทำไม

นางเปตรกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าดิฉันตักน้ำในแม่น้ำคงคานี้เองไซร้ น้ำนั้นย่อมกลับกลายเป็นเลือดปรากฏแก่ดิฉัน เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงขอน้ำแก่ท่าน

ภิกษุนั้นถามว่า

ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ หรือ น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่ท่าน

นางเปรตนั้นกล่าวว่า ดิฉันมีบุตรคนหนึ่งชื่ออุตตระ เป็นอุบาสกมีศรัทธา เขาได้ถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และคิลานปัจจัย แก่สมณะทั้งหลาย

ด้วยความไม่พอใจของดิฉัน ดิฉันถูกความตระหนี่ครอบงำแล้ว ด่าเขาว่า

เจ้าอุตตระ เจ้าถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัย แก่สมณะทั้งหลาย ด้วยความไม่พอใจของเรานั้น จงกลายเป็นเลือด ปรากฏแก่เจ้าในปรโลก

เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่ดิฉัน


(๑๔) วิบากกรรมของผู้ด่าทอภิกษุสงฆ์ตามอย่างผู้อื่น

พระมหาโมคคัลลานเถระได้ถามเปรตตนหนึ่งว่า ท่านเป็นใคร โผล่ขึ้นจากหลุมคูถให้เราเห็นเช่นนี้ ท่านร้องครวญครางอื้ออึงไปทำไม ท่านมีการงานอันลามกเป็นแน่

เปรตนั้นตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นเปรตเสวยทุกข์เกิดในยมโลก เพราะได้ทำกรรมอันลามกไว้ จึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก

พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจหรือ เพราะผลแห่งกรรมอะไร ท่านจึงได้ประสบทุกข์เช่นนี้

เปรตนั้นตอบว่า ชาติก่อน มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาส อยู่ในอาวาสของข้าพเจ้า ท่านมีปกติริษยา ตระหนี่ตระกูล มีใจกระด้าง มักด่าบริภาษ ได้ยกโทษภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายที่เรือนของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าฟังคำของภิกษุนั้นแล้ว ได้ด่าพวกภิกษุทั้งหลาย เพราะผลแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงไปสู่เปตโลก

พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า ภิกษุที่เข้าไปสู่ตระกูลของท่าน ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม เป็นคนปัญญาทราม ละไปแล้ว ไปสู่คติไหน

เปรตนั้นตอบว่า ข้าพเจ้ายืนอยู่บนศีรษะของภิกษุผู้มีกรรมอันลามกนั้น กุลุปกภิกษุไปเกิดเป็นเปรตบริวารของข้าพเจ้า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นถ่ายมูตรคูถลงในเว็จนี้ มูตรคูถนั้นเป็นอาหารของข้าพเจ้าและข้าพเจ้ากินมูตรคูถนั้นแล้ว ถ่ายมูตรคูถสิ่งใดลงไป กุลุปกเปรตนั้นก็เลี้ยงชีพด้วยมูตรคูถนั้น


(๑๕) วิบากกรรมของการกล่าวห้ามผู้อื่นบูชาพระสถูป

พระมหากัสสปเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า ท่านยืนอยู่ในอากาศ มีกลิ่นเน่าเหม็นฟุ้งไป และหมู่หนอนพากันบ่อนฟอนกินปาก อันมีกลิ่นเหม็นเน่าของท่าน เมื่อก่อนท่านทำกรรมอะไรไว้

เพราะการฟุ้งไปแห่งกลิ่นเหม็นนั้น นายนิรยบาลถือเอาศาตรามาเฉือนปากของท่านเนือง ๆ รดท่านด้วยน้ำแสบ แล้วเชื่อดเนื้อไปพลาง ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจหรือ เพราะวิบากแห่งกรรมอะไร ท่านจึงได้ประสบความทุกข์อย่างนี้

เปรตนั้นตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ เมื่อก่อน กระผมเป็นอิสรชนอยู่ที่ภูเขาวงกตอันเป็นที่รื่นรมย์ ใกล้กรุงราชคฤห์ เป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย แต่กระผมได้ห้ามปรามภรรยาธิดา และลูกสะใภ้ของกระผม ซึ่งพากันนำพวงมาลา ดอกอุบล และเครื่องลูบไล้อันหาค่ามิได้ ไปสู่สถูปเพื่อบูชา

บาปนั้นกระผมได้ทำไว้แล้ว จึงได้เสวยทุกขเวทนาเห็นประจักษ์ และจักหมกไหม้อยู่ในนรกอันหยาบช้าทารุณ ๘๖,๐๐๐ ปี เพราะติเตียนการบูชาพระสถูป

ก็เมื่อการบูชาและการฉลองพระสถูปของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันมหาชนให้เป็นไปอยู่ ชนเหล่าใดมาประกาศโทษแห่งการบูชาพระสถูปนั้นเหมือนกระผม ชนเหล่านั้นพึงห่างเหินจากบุญ

ขอท่านจงดู ชนทั้งหลายซึ่งทัดทรงดอกไม้ตบแต่งร่างกายเหาะมาทางอากาศเหล่านี้ เป็นผู้มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นผู้มั่งคั่งมียศเสวยอยู่ซึ่งวิบากแห่งการบูชาด้วยดอกไม้

ชนทั้งหลายผู้มีปัญญา ได้เห็นผลอันน่าอัศจรรย์ น่าขนพองสยองเกล้าอันไม่เคยมีนั้นแล้ว ย่อมทำการนอบน้อมวันทาพระมหามุนีนั้น กระผมไปจากเปตโลกนี้แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์จักเป็นผู้ไม่ประมาท ทำการบูชาพระสถูปเนือง ๆ เป็นแน่แท้


(๑๖) วิบากกรรมของการอาฆาตและพูดให้ร้ายผู้บริสุทธิ์แล้ว

โกกาลิกภิกษุได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาลามก

เมื่อโกกาลิกภิกษุกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะโกกาลิกภิกษุว่าอย่าได้กล่าวอย่างนี้ เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะมีศีลเป็นที่รัก

แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงชักนำข้าพระองค์ให้จงใจเชื่อ ให้เลื่อมใส ก็จริง แต่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาลามก

แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกะโกกาลิกภิกษุว่า เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะมีศีลเป็นที่รัก

แม้ครั้งที่ ๓ โกกาลิกภิกษุก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงชักนำข้าพระองค์ให้จงใจเชื่อ ให้เลื่อมใส ก็จริง แต่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาลามก

แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกะโกกาลิกภิกษุว่า โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะมีศีลเป็นที่รัก

ลำดับนั้น โกกาลิกภิกษุลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อโกกาลิกภิกษุหลีกไปแล้วไม่นานนัก ได้มีต่อมประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วกาย ครั้นแล้ว เป็นต่อมประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว เท่าเมล็ดถั่วดำ เท่าเมล็ดพุดซา เท่าผลพุดซา เท่าผลมะขามป้อม เท่าผลมะตูมอ่อน เท่าผลขนุนอ่อน แตกหัวแล้ว หนองและเลือดไหลออก โกกาลิกภิกษุมรณภาพเพราะอาพาธนั้นเอง

ครั้นโกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้ว ก็อุบัติในปทุมนรกเพราะจิตคิดอาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ

...ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาประพันธ์ว่า

ก็วาจาหยาบเช่นกับขวาน เกิดในปากของบุรุษแล้ว เป็นเหตุตัดรอนตนเองของบุรุษผู้เป็นพาล ผู้กล่าวคำทุภาษิต

ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรนินทา หรือนินทาคนที่ควรสรรเสริญผู้นั้นย่อมก่อโทษเพราะปาก ย่อมไม่ได้ความสุขเพราะโทษนั้น

การแพ้ด้วยทรัพย์เพราะเล่นการพนันเป็นโทษเพียงเล็กน้อย โทษของผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ปฏิบัติดีนี้แลเป็นโทษมากกว่า

บุคคลตั้งวาจาและใจอันลามกไว้แล้ว เป็นผู้ติเตียนพระอริยะเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกตลอดกาลประมาณด้วยการนับปี ๑๐๐,๐๐๐ นิรัพพุทะและ ๔๐ อัพพุทะ

ผู้กล่าวคำเท็จย่อมเข้าถึงนรก อนึ่ง ผู้ทำกรรมอันลามกแล้วกล่าวว่าไม่ได้ทำ ก็ย่อมเข้าถึงนรกอย่างเดียวกัน คนทั้งสองนั้นเป็นมนุษย์มีกรรมอันเลวทราม ละไปแล้วย่อมเป็นผู้เสมอกันในโลกเบื้องหน้า

ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับมาถึงผู้เป็นพาลนั้นเอง เหมือนธุลีละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมฉะนั้น

ผู้ที่ประกอบเนือง ๆ ในคุณ คือ ความโลภ ไม่มีศรัทธา กระด้าง ไม่รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความตระหนี่

ประกอบเนือง ๆ ในคำส่อเสียด ย่อมบริภาษผู้อื่นด้วยวาจา แน่ะ คนผู้มีปากเป็นหล่ม กล่าวคำอันไม่จริง

ผู้ไม่ประเสริฐ ผู้กำจัดความเจริญ ผู้ลามก ผู้กระทำความชั่ว ผู้เป็นบุรุษในที่สุด มีโทษเป็นอวชาต ท่านอย่าได้พูดมากในที่นี้ อย่าเป็นสัตว์นรก ท่านย่อมเกลี่ยธุลี คือ กิเลสลงในตนเพื่อกรรมมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล

ท่านผู้ทำกรรมหยาบ ยังติเตียนสัตบุรุษ ท่านประพฤติทุจริตเป็นอันมากแล้วย่อมไปสู่มหานรกสิ้นกาลนาน...

 

ดู วาจา

 

อ้างอิง :  
(๑) วิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๖ หน้าที่ ๘
      มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๙๙ หน้า ๒๓๑
(๒) อัฏฐังคิกวาร วิภังคปกรณ์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๕๘๓ หน้า ๒๗๑
(๓) สาเลยยกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๘๔ หน้าที่ ๓๖๖
     เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔  ข้อที่ ๒๐๓-๒๐๕ หน้า ๑๑๖-๑๑๗
     คูถภาณีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๖๗
(๔) อุทยมาณวกปัญหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ ข้อที่ ๔๔๔ หน้า ๑๖๗
(๕) สามัญผลสูตร มัชฌิมศีล พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๑๐-๑๑๑ หน้า ๖๓-๖๔
(๖) มหาจัตตารีสกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔  ข้อที่ ๒๖๖-๒๖๘ หน้า ๑๔๗-๑๔๘
(๗) กรรมสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๑๙๔ หน้า ๒๖๗, ๒๖๙
(๘) นิรยสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๕๓ หน้า ๓๘๖
(๙) สัพพลหุสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๓๐ หน้าที่ ๑๙๒-๑๙๓
(๑๐) ทวารปาลกวิมาน พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๕๕ หน้า ๘๒
(๑๑) โถมกเถราปทานที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๒๖๓ ข้อที่ ๒๕๓
(๑๒) กูฏวินิจฉยกเปตวัตถุ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๑๑๙ หน้า ๑๗๔
(๑๓) อุตตรมาตุเปตวัตถุ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๑๐๗ หน้า ๑๕๖
(๑๔) คูถขาทิกเปตวัตถุที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๑๒๗-๑๒๘ หน้า ๑๙๔
(๑๕) ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๑๒๐ หน้า ๑๗๕ – ๑๗๖
(๑๖) โกกาลิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๘๔-๓๘๗ หน้า ๓๔๔ -๓๔๖
 
 

 

คำต่อไป