Main navigation

สันทกสูตร: อพรหมจริยวาส

ว่าด้วย
อพรหมจริยวาส
เหตุการณ์
พระอานนท์แสดงธรรมแก่สันทกปริพาชกว่าด้วยธรรมที่ไม่เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ การปฏิบัติที่ปฏิบัติแล้วก็ไม่สามารถทำกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้ พรหมจรรย์ที่เมื่อตั้งอยู่จะยังกุศลธรรมเครื่องออกจากทุกข์ได้ เมื่อแสดงธรรมจบ สันทกปริพาชกส่งสาวก ๕๐๐ คน ไปปฏิบัติธรรมยังสำนักของพระพุทธเจ้า

พระอานนท์แสดงธรรมแก่สันทกปริพาชก ดังนี้ 

(๑)  ลัทธิที่ไม่เป็นที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงปฏิบัติ ถ้าอยู่ก็ยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้ 

(๒) พรหมจรรย์อันเว้นความยินดี ๔ ประการ ที่บุคคลไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็พึงทำกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้

(๓) พรหมจรรย์ที่วิญญูชนพึงอยู่ และเมื่ออยู่ ก็ยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้ อันได้แก่ฌาณ ๔ และวิชชา ๓

(๔) พระอรหันต์ขีณาสพ ไม่ประพฤติล่วงฐานะทั้งห้า มีความรู้ความเห็นเป็นนิจว่า อาสวะทั้งหลายสิ้นแล้ว

เมื่อพระอานนท์แสดงธรรมจบสันทกปริพาชกสรรเสริญว่าในธรรมวินัยนี้ ไม่ได้มีการยกย่องแต่ธรรมของตนและติเตียนธรรมของผู้อื่น มีแต่การแสดงธรรมตามเหตุเท่านั้น แต่ก็มีผู้นำตนออกไปจากกิเลสและกองทุกข์ได้มากมาย สันทกปริพาชกส่งบริษัทของตนไปประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค

--------------------

(๑)  ลัทธิที่ไม่เป็นที่อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ ประการ ที่วิญญูชนไม่พึงปฏิบัติ ถ้าอยู่ก็ยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้

ความเชื่อที่ 1 - โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี ผลแห่งความดี ความชั่วไม่มี ตายแล้วสูญเลย

ศาสดาบางคน กล่าวว่า

- ทานไม่มีผล
- การบูชาไม่มีผล
- การเซ่นสรวงไม่มีผล
- ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี
- โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
- มารดาบิดาไม่มี
- สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี
- สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง และสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก
- คนเป็นเพียงการรวมกันของธาตุทั้งสี่ เมื่อเสียชีวิต ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายลอยไปสู่อากาศ ร่างกายอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็น กระดูก การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด
- ทานเป็นเรื่องที่คนเขลาบัญญัติไว้ คำพูดที่ว่า มีผล ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลาย ทั้งคนดี คนไม่ดี ย่อมสูญสิ้นไป ไม่มีอะไรหลังความตาย

ถ้าคำของศาสดานี้เป็นคำจริง

(๑) กรรมที่ไม่ได้ทำเลย เป็นอันทำแล้ว
(๒) พรหมจรรย์ในลัทธินี้ไม่ได้อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว
(๓) ทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อว่ากายสลาย ตายแล้วสูญไป ก็จะเป็นผู้เสมอกัน
(๔)  ศาสดา กับคนที่ครองเรือน ก็จะเป็นผู้ที่มีคติเท่าๆ กับศาสดานี้ในภพหน้าได้ 

ความเชื่อที่ 2 - บาป-บุญไม่มี

ศาสดาบางคน กล่าวว่า

- เมื่อบุคคลทำเอง หรือว่าให้ผู้อื่นทำการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ปล้น เป็นชู้ หรือพูดเท็จ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าทำบาป
- หากผู้ใดจะฆ่าสัตว์ในโลกนี้ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน  บาปที่เกิดจากการทำเช่นนั้น ไม่มีแก่ผู้นั้น
- หากบุคคลจะฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน บาปที่เกิดจากการทำเช่นนั้น ไม่มีแก่ผู้นั้น
- หากบุคคลจะให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่เกิดจากการทำเช่นนั้น ไม่มีแก่ผู้นั้น ไม่มีบุญมาถึงเขา บุญไม่มีแก่เขาจากการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวมศีล การกล่าวคำสัตย์

ถ้าคำของศาสดานี้เป็นคำจริง

(๑) กรรมที่ไม่ได้ทำเลย เป็นอันทำแล้ว
(๒) พรหมจรรย์ในลัทธินี้ไม่ได้อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว
(๓)  ทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อเรื่องบาป-บุญ ก็จะเป็นผู้ที่เสมอกัน
(๔)  ศาสดา กับคนที่ครองเรือน ก็จะเป็นผู้ที่มีคติเท่าๆ กับศาสดานี้ในภพหน้าได้ 

ความเชื่อที่ 3 - เหตุ ปัจจัยไม่มี บริสุทธิ์ได้เอง ทุกอย่างเป็นไปตามเคราะห์ดี เคราะห์ร้าย

ศาสดาบางคน กล่าวว่า

- ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย
- สัตว์ทั้งหลาย หาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมองเอง
- ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาเหตุหาปัจจัยมิได้ ย่อมบริสุทธิ์เอง
- ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ
- สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตะทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ตามความประจวบ ตามความเป็นเอง ย่อมเสวยสุข เสวยทุกข์ในอภิชาติทั้งหกเท่านั้น

ถ้าคำของศาสดานี้เป็นคำจริง

(๑) กรรมที่ไม่ได้ทำเลย เป็นอันทำแล้ว
(๒) พรหมจรรย์ในลัทธินี้ไม่ได้อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว
(๓)  ทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อว่า หาเหตุปัจจัยไม่ได้ จะบริสุทธิ์เอง ก็จะเป็นผู้ที่เสมอกัน
(๔)  ศาสดา กับคนที่ครองเรือน ก็จะเป็นผู้ที่มีคติเท่าๆ กับศาสดานี้ในภพหน้าได้ 

ความเชื่อที่ 4 -โลก ชีวิต ไม่มีใครสร้างเป็นเพียงสภาวะ ๗ กอง คนดีและไม่ดีจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เอง โดยไม่ต้องมีศีล พรต ตบะหรือพรมจรรย์

ศาสดาบางคน กล่าวว่า

- สภาวะ ๗ กอง คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต
- เป็นสภาวะอันยั่งยืน ตั้งอยู่ มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน
- ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน
- ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดี ผู้กล่าวให้ได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนั้น
- แม้บุคคลจะเอาอาวุธตัดศีรษะกัน ก็ไม่ชื่อว่าใครปลงชีวิตใคร เป็นแต่อาวุธสอดไปในช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น
- ก็แต่กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรมกึ่ง ปฏิปทา ๖๒ อันตรกัป ๖๒ อภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ ๘ อาชีวก ๔,๙๐๐ ปริพาชก ๔,๙๐๐ นาคาวาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓,๐๐๐ ราโชธาตุ ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคันถครรภ์ ๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗ สระ ๗ ปวุฏะ ๗ หิน ๗ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗ สุบิน ๗๐๐ มหากัป ๘,๔๐๐,๐๐๐ เหล่านี้ ที่คนเลวและบัณฑิตเร่ร่อนไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้
- ความสมหวังว่า เราจักบ่มกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือเราสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้ว จักทำให้สุดสิ้นด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้  ไม่มีในที่นั้น
- สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่สิ้นสุดได้  ย่อมไม่มีในสงสาร ด้วยอาการอย่างนี้เลย ไม่มีความเสื่อม ความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง.
- คนไม่ดีและคนดีเร่ร่อนท่องเที่ยวไป จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง

ถ้าคำของศาสดานี้เป็นคำจริง

(๑) กรรมที่ไม่ได้ทำเลย เป็นอันทำแล้ว
(๒) พรหมจรรย์ในลัทธินี้ไม่ได้อยู่เลย เป็นอันอยู่แล้ว
(๓)  ทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อว่า จะทำที่สุดทุกข์ได้ ก็จะเป็นผู้ที่เสมอกัน
(๔)  ศาสดา กับคนที่ครองเรือน ก็จะเป็นผู้ที่มีคติเท่าๆ กับศาสดานี้ในภพหน้าได้ 

(๒)  พรหมจรรย์อันเว้นความยินดีสี่ประการ ที่บุคคลไม่พึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย ถึงเมื่ออยู่ ก็พึงทำกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จไม่ได้

ประการที่หนึ่ง

ศาสดาบางคน ตั้งตนเป็นสัพพัญญู รู้เห็นธรรมทั้งปวง ปฏิภาณความรู้ความเห็นว่า เมื่อเราเดินอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ความรู้ความเห็นปรากฏเสมอเป็นนิจ

ศาสดานั้นเข้าไปยังเรือนว่างบ้าง ไม่ได้ก้อนข้าวบ้าง สุนัขกัดเอาบ้าง พบม้าดุบ้าง พบโคดุบ้าง ถามถึงชื่อบ้าง โคตรบ้าง ของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ถามถึงชื่อบ้าง หนทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง เมื่อถูกถามว่านี่อะไร ก็ตอบเขาว่า เราเข้าไปยังเรือนว่างด้วยกิจที่เราจำต้องเข้าไป เราไม่ได้ก้อนข้าวด้วยเหตุที่เราไม่ควรได้ เราเป็นผู้ถูกสุนัขกัดด้วยเหตุที่ควรถูกกัด เราพบช้างดุด้วยเหตุที่ควรพบ เราถามถึงชื่อบ้าง โคตรบ้าง ของหญิงบ้าง ของชายบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถาม เราถามถึงชื่อบ้าง ทางบ้าง ของบ้านบ้าง ของนิคมบ้าง ด้วยเหตุที่ควรถาม.

ประการที่สอง

ศาสดาบางคนเป็นผู้เชื่อถือการฟังตามกัน เป็นผู้เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกัน ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมโดยฟังตามกัน โดยสืบๆกันมาว่าอย่างนั้นๆ โดยอ้างตำรา

เมื่อศาสดาเชื่อถือการฟังตามกัน เชื่อว่าจริงด้วยการฟังตามกันแล้ว ย่อมมีการฟังดีบ้าง มีการฟังชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง

ประการที่สาม

ศาสดาบางคนเป็นผู้ใช้ความตรึก เป็นผู้ใช้ความพิจารณา. ศาสดานั้นจึงแสดงธรรมตามปฏิภาณของตน เทียบเหตุตามความที่ตนตรึก คล้อยตามความที่ตนพิจารณา

เมื่อศาสดาใช้ความตรึก ใช้ความพิจารณาแล้ว ก็ย่อมมีความตรึกดีบ้าง ความตรึกชั่วบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง

ประการที่สี่

ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นคนเขลา งมงาย เพราะเป็นคนเขลา. เพราะเป็นคนงมงาย ศาสดานั้น เมื่อถูกถามปัญหาย่อมตอบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า ความเห็นของเราว่าอย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ดังนี้.

บุคคลครั้นรู้ว่าพรหมจรรย์สี่ประการนี้เว้นจากความยินดี ย่อมเบื่อหน่าย หลีกไปเสียจากพรหมจรรย์นั้น ๆ

 

อ่าน สันทกสูตร

อ้างอิง
สันทกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๙๓-๓๐๘ หน้า ๒๒๒-๒๓๓
ชุดที่
ลำดับที่
7

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ