สันทกสูตร: วิชชา ๓
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวแล้ว
ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทส
ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลายด้วยทิพยจักษุอันล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดหมู่สัตว์ซึ่งเป็นไปตามกรรม
ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี
ก็บุคคลบรรลุคุณวิเศษนี้ในศาสดาใด บุคคลพึงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสดานั้น และเมื่ออยู่ ก็พึงยังกุศลธรรมเครื่องออกไปจากทุกข์ให้สำเร็จได้
พระขีณาสพไม่ล่วงฐานะ ๕
พระอรหันต์ขีณาสพ เป็นผู้ไม่สามารถประพฤติล่วง ฐานะทั้งห้า คือ
(๑) ไม่สามารถฆ่าสัตว์
(๒) ไม่สามารถ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
(๓) ไม่สามารถเสพเมถุนธรรม
(๔) ไม่สามารถกล่าวเท็จทั้งรู้อยู่
(๕) ไม่สามารถทำการสั่งสมบริโภคกามทั้งหลายเหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์
พระอรหันต์ขีณาสพย่อมมีความรู้ความเห็นว่า อาสวะทั้งหลายสิ้นแล้ว ปรากฏเสมอเป็นนิจ เมื่อพิจารณาย่อมรู้ว่า อาสวะทั้งหลายสิ้นแล้ว
อ่าน สันทกสูตร