สุภสูตร: อริยปัญญาขันธ์
อริยปัญญาขันธ์
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ย่อมพึงได้ปัญญาใน วิชชา ๘ คือ
วิปัสสนาญาณ - ญาณทัสนะว่ากายนี้มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง มีอันเป็นไปเป็นธรรมดา และวิญญาณก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้
มโนมยิทธิญาณ - เนรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้
อิทธิวิธีญาณ - คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
ทิพยโสตญาณ - ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์
เจโตปริยญาณ - กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ - ระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก
จุตูปปาตญาณ - รู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
อาสวักขยญาณ - รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ เหล่านี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว
ปัญญาขันธ์ อันเป็นอริยะนี้พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญ ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ และในพระธรรมวินัยนี้ มิได้มีกิจที่ยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อพระอานนท์แสดงธรรมจบ สุภมาณพแสดงตนเป็นอุบาสก
อ่าน สุภสูตร
พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระสงฆ์
อานนทธรรม
พระสงฆ์
ธรรมอันลึกซึ้ง
พระสงฆ์
ฤทธิธรรม
พระสงฆ์
ธรรมปัญญา
พระสงฆ์
มหาบุรุษ - มหาสตรี
พระสงฆ์
มหาเถรธรรม
พระสงฆ์
อารยธรรมบท