Main navigation

สาปุคิยาสูตร

ว่าด้วย
ปาริสุทธิ ๔
เหตุการณ์
ท่านพระอานนท์อยู่ที่นิคมของพวกโกฬิยะ ชื่อสาปุคะในแคว้นโกฬิยะ โกฬิยบุตรชาวนิคมสาปุคะมากด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่

พระอานนท์ได้แสดงธรรมแก่โกฬิยบุตร ชาวสาปุคนิคมว่า

องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจด เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน คือ ศีล ๑ จิต ๑ ทิฏฐิ ๑ วิมุตติ ๑

สีลปาริสุทธิ

องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ คือ ศีล คือ

ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เรียกสีลปาริสุทธิ

ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในสีลปาริสุทธินั้นว่า

จักยังสีลปาริสุทธิอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประคับประคองสีลปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น ๆ นี้เรียกว่า องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ สีลปาริสุทธิ

จิตตปาริสุทธิ

องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ คือ จิต คือ

เป็นผู้บรรลุปฐมฌาน บรรลุทุติยฌาน บรรลุตติยฌาน บรรลุจตุตถฌาน นี้เรียกว่าจิตตปาริสุทธิ

ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า จักยังจิตตปาริสุทธิอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประคับประคองจิตตปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น ๆ นี้เรียกว่า องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ จิตตปาริสุทธิ

ทิฏฐิปาริสุทธิ

องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ คือ ทิฏฐิ คือ

การรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่าทิฏฐิปาริสุทธิ

ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า จักยังทิฏฐิปาริสุทธิอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประคับประคองทิฏฐิปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น ๆ นี้เรียกว่า องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ ทิฏฐิปาริสุทธิ

วิมุตติปาริสุทธิ

ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติปาริสุทธิ คือ

ผู้ประกอบด้วยสีลปาริสุทธิ จิตตปาริสุทธิ ทิฏฐิปาริสุทธิแล้ว ย่อมคลายจิตในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย่อมเปลื้องในธรรมที่ควรเปลื้อง ครั้นแล้วย่อมถูกต้องสัมมาวิมุติ นี้เรียกว่าวิมุตติปาริสุทธิ

ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในวิมุตติปาริสุทธินั้นว่า จักยังวิมุตติปาริสุทธิอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประคับประคองวิมุตติปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น ๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติปาริสุทธิ

 

อ่าน สาคุปิยาสูตร

อ้างอิง
สาคุปิยาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๙๔ หน้า ๑๘๖-๑๘๗
ชุดที่
ลำดับที่
22

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ