Main navigation
ทาน
Share:

(๑) สัปปุริสทาน ๘ ประการ คือ

๑. ให้ของสะอาด
๒. ให้ของประณีต
๓. ให้ตามกาล
๔. ให้ของสมควร
๕. เลือกให้
๖. ให้เนืองนิตย์
๗. เมื่อให้จิตผ่องใส
๘. ให้แล้วดีใจ

สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีต ตามกาลสมควรเนือง ๆ ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี บริจาคของมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ผู้มีปัญญาเห็นแจ้งย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วอย่างนี้ เมธาวีบัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข

(๒) สัปปุริสทาน ๕ ประการ คือ

๑.  สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา

ครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นบังเกิดขึ้น

๒.  ย่อมให้ทานโดยเคารพ

ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

๓.  ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร

ครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

๔. เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน

ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

๕. ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น

ครั้นให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

(๓) ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก (ผู้รับ) คือ

๑. ให้อายุ
๒. ให้วรรณะ
๓. ให้สุข
๔. ให้กำลัง
๕. ให้ปฏิภาณ

ครั้นให้อายุแล้วย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุขทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

ครั้นให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกำลังทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทานชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างนี้

ปราชญ์ผู้มีปัญญา ให้อายุย่อมได้อายุ ให้กำลัง ย่อมได้กำลัง ให้วรรณะย่อมได้วรรณะ ให้ปฏิภาณย่อมได้ปฏิภาณ ให้สุขย่อมได้สุข

ครั้นให้อายุ กำลัง วรรณะ สุข และปฏิภาณแล้วจะเกิดในที่ใด ๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศ

(๔) บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง
ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ
ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข
ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ
และผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม

(๕)  พึงสร้างอาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์ ยังผู้พหูสูตทั้งหลายให้พำนักอยู่ ณ ที่นั้น
พึงสร้างบ่อน้ำไว้ในป่าที่กันดารน้ำ
และสะพานในที่เป็นหล่ม
พึงถวาย ข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า และ เสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรงทั้งหลายด้วยใจอันผ่องใส

ทายกผู้มีศรัทธา เป็นบัณฑิต ย่อมจัดหาโภชนาหารมาเลี้ยงวณิพกด้วยข้าวน้ำให้อิ่มหนำ บันเทิงใจ เที่ยวไปในโรงทาน สั่งว่า ท่านทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้ ดังนี้ และทายกนั้นบันลือเสียงกระหึ่มเหมือนเสียงแห่งเมฆเมื่อฝนกำลังตก ธารแห่งบุญอันไพบูลย์นั้น ย่อมยังทายกผู้ให้ ให้ชุ่มชื่น


องค์ ๖ แห่งทักษิณาทาน

(๖) ทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ

องค์ ๓ ของทายก (ผู้ให้) เป็นไฉน

ทายกก่อนให้ทานเป็นผู้ดีใจ ๑
กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ๑
ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ ๑

นี้องค์ ๓ ของทายก

องค์ ๓ ของปฏิคาหก (ผู้รับ) เป็นไฉน

ปฏิคาหกในศาสนานี้เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ ๑

เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ๑

เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ ๑

นี้องค์ ๓ ของปฏิคาหก

ทักษิณาทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

การถือประมาณบุญแห่งทักษิณาทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการอย่างนี้ว่า ห้วงบุญห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้นำสุขมาให้ มีอารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ดังนี้ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้บุญแห่งทักษิณาทานนั้น ย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงบุญห้วงกุศลที่จะนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เป็นกองบุญใหญ่ทีเดียว เปรียบเหมือนการถือเอาประมาณแห่งน้ำในมหาสมุทรว่า เท่านี้อาฬหกะ เท่านี้ร้อยอาฬหกะ เท่านี้พันอาฬหกะ หรือเท่านี้แสนอาฬหกะ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้ น้ำในมหาสมุทรย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงน้ำที่จะนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เป็นห้วงน้ำใหญ่ทีเดียว ฉะนั้น

ทายกก่อนแต่จะให้ทานเป็นผู้ดีใจ กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ นี้เป็นยัญสมบัติ

ปฏิคาหกผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คือ ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ ย่อมเป็นเขตถึงพร้อมแห่งยัญ

ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมากเพราะตน (ทายกผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น (ปฏิคาหก)

ทายกผู้มีปัญญา มีศรัทธา เป็นบัณฑิต มีใจพ้นจากความตระหนี่ ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุขไม่มีความเบียดเบียน


ทานที่ให้ดีแล้วเป็นทางไปสู่เทวโลก

(๗)  ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

การให้ทานด้วยศรัทธา ๑
การให้ทานด้วยหิริ ๑
การให้ทานอันหาโทษมิได้ ๑

บัณฑิตกล่าวธรรม ๓ ประการนี้ว่า เป็นทางไปสู่ไตรทิพย์ ชนทั้งหลายย่อมไปสู่เทวโลกด้วยทางนี้

(๘) ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ไซร้ สัตว์ทั้งหลายยังไม่ให้ทานแล้ว ก็จะไม่พึงบริโภค ความตระหนี่อันเป็นมลทิน จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น ถ้าผู้รับพึงมี สัตว์เหล่านั้นไม่แบ่งคำข้าวแล้วก็จะไม่พึงบริโภค แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายไม่ให้แล้ว จึงบริโภค ความตระหนี่อันเป็นมลทินจึงยังครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น


บุคคลพึงให้ทานที่ไหน

(๕) จิตย่อมเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ในที่นั้น

ทานพึงให้ในที่ไหนนั่นเป็นข้อหนึ่ง และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหามีผลมากไม่


กาลที่ควรให้ทาน ๕ ประการ

(๙)  ๑.​​ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน
๒. ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป
๓. ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง
๔. ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล
๕. ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล

กาลทาน ๕ ประการนี้ ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์

ผู้ที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้นย่อมไม่มีผลบกพร่องเพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น ผู้ที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ

ผู้มีจิตไม่ท้อถอยจึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก 


อานิสงส์แห่งการให้ทานที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบันและอนาคต

(๑๐)(๑๑) ๑.  ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
๒.  สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓.  กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป
๔.  ผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใดๆ คือที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขินเข้าไป
๕.  ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์
๖.  ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ  สัปบุรุษผู้สงบผู้สำรวมอินทรีย์ ประกอบพรหมจรรย์ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้

(๑๑) นรชนผู้ไม่ตระหนี่ ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชนเป็นอันมากย่อมคบหานรชนนั้น นรชนนั้นย่อมได้เกียรติ มียศ เจริญ เป็นผู้ไม่เก้อเขินแกล้วกล้าเข้าสู่ที่ประชุมชน

เพราะเหตุนี้ บัณฑิตผู้หวังสุข ขจัดมลทินคือความตระหนี่ แล้วให้ทาน ย่อมประดิษฐานในไตรทิพย์ ถึงความเป็นสหายของเทวดา

บัณฑิตได้ทำกุศล เมื่อตายไปย่อมเที่ยวชมไปในอุทยานนันทนวัน เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ สาวกทั้งปวงของพระสุคตผู้ไม่มีกิเลส ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้วย่อมร่าเริงทุกเมื่อ


ความบริสุทธิ์แห่งทาน ๔ อย่าง

(๑๒) ๑. ทานบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้ทาน) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับทาน) คือ

ทายก มีศีล มีธรรมงาม ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง 
ปฏิคาหก เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก

๒. ทานบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก คือ

ทายก เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง
ปฏิคาหก เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม

๓. ทานไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก คือ

ทายก เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง
ปฏิคาหก เป็นผู้ทุศีล

๔. ทานบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก คือ

ทายก ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง
ปฏิคาหก เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม

ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่ามีผลไพบูลย์

ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทานของผู้นั้นมีผลไพบูลย์

ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย


การให้ทานเจาะจงผู้รับไม่เจาะจงผู้รับ

ปาฏิปุคคลิกทาน (การให้ทานโดยเจาะจงผู้รับ)

ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิกมี ๑๔ อย่าง คือ

๑.   ให้ทานในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒ .  ให้ทานในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
๓.   ให้ทานในสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์
๔.   ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง
๕.   ให้ทานแก่พระอนาคามี
๖.   ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง
๗.   ให้ทานแก่พระสกทาคามี
๘.   ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง
๙.   ให้ทานในพระโสดาบัน
๑๐.  ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง
๑๑.  ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม
๑๒.  ให้ทานในบุคคลผู้มีศีล
๑๓.  ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล
๑๔.  ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน

ใน ๑๔ ประการนั้น

การให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลได้ ๑๐๐ เท่า

ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลได้ ๑,๐๐๐ เท่า

ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลได้ ๑๐๐,๐๐๐ เท่า

ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลได้ ๑๐๐,๐๐๐โกฏิเท่า

ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณานับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง
ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ


สังฆทาน (การให้ทานแก่สงฆ์)

ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ

๑.  ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

๒.  ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

๓.  ให้ทานในภิกษุสงฆ์

๔.  ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์

๕.  เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน

๖.  เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน

๗.  เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน

ก็ในอนาคตกาล จะมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานแก่สงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน (การถวายทานโดยเจาะจงผู้รับ) ว่า มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ (สังฆทาน) โดยปริยายไร ๆ


เหตุให้ทานที่ให้กับผู้มีศีลมีผลมาก

(๑๓) นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นโทษ หมู่สัตว์มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นโทษ เพราะเหตุนั้น ทานที่บุคคลถวายในท่านผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ย่อมมีผลมาก

นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นโทษ หมู่สัตว์นี้มีความอิจฉาเป็นโทษ เพราะเหตุนั้น ทานที่บุคคลถวายในท่านผู้ปราศจากความอิจฉา ย่อมมีผลมาก

(๑๔) ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหามีผลมากไม่

กุลบุตรออกจากเรือนบวช มีองค์ ๕ ละได้แล้ว คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยองค์ ๕ คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ อันเป็นของพระอเสขะ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรนั้น ย่อมเป็นทานมีผลมาก


ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ

(๑๕)  ผู้ใดให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ และปัจจัยต่าง ๆ ด้วยความพอใจในผู้ประพฤติตรง สิ่งของที่ให้ไปแล้วนั้นย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว สละแล้ว ไม่คิดเอาคืน

ผู้นั้นเป็นสัปบุรุษทราบชัดว่า พระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญ บริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยากแล้ว ชื่อว่าให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ

ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ
ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ
ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี
และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ  

นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐนรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใด ๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ 


ทานที่เศร้าหมอง-ประณีต ให้ด้วยความเคารพ-ไม่เคารพ ให้ด้วยมือตนเอง-ไม่ได้ให้ด้วยมือตนเอง

(๑๖) บุคคนให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือ ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน

ทานนั้นบังเกิดผลในตระกูลใด จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี

แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ส่งจิตไปที่อื่น ทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพ

บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน

ทานนั้นบังเกิดผลในตระกูลใด จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี

แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี ไม่ส่งจิตไปที่อื่น ทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ


การเจริญอนิจจสัญญามีผลมากกว่าการให้ทาน

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคล ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค

การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท (ศีล ๕) มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท (ศีล ๕)

การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม

(โดยนัยแล้ว ศีลมีผลมากกว่าทาน ภาวนา (สมถะและวิปัสสนา) มีผลมากกว่าศีล)
 

(๑๗) ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต

๒ คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งไม่ให้ คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน พึงมีความพิเศษ แตกต่างกันหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็นเทวดาย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์ ผู้ที่ให้เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้

ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็น มนุษย์ ย่อมข่มคนไม่ให้ได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ด้วยอายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์ ผู้ให้เป็นมนุษย์ย่อมข่มคนผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้

ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวช แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ คนที่ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มคนที่ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ เมื่อออกปากขอย่อมได้จีวรมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บิณฑบาตมากเมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้เสนาสนะมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บริขารคือยาที่เป็นเครื่องบำบัดไข้มาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย

และจะอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย ผู้ให้เป็นบรรพชิตย่อมข่มผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้

ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุอรหัตแต่คนทั้งสองนั้นทั้งที่ได้บรรลุอรหัตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ

เราไม่กล่าวว่ามีเหตุแตกต่างกันใดๆ ในวิมุตติ กับวิมุตติ ข้อนี้


(๑๘) การชักชวนผู้อื่นให้ทาน

ผู้ที่ให้ทานด้วยตน แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ  

ผู้ที่ไม่ให้ทานด้วยตน ชักชวนแต่คนอื่น ย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้โภคสมบัติ

ผู้ที่ไม่ให้ทานด้วยตนด้วย ไม่ชักชวนคนอื่นด้วย ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ  ไม่ได้บริวารสมบัติ  

ผู้ที่ให้ทานด้วยตนด้วย ชักชวนคนอื่นด้วย ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ  


การหวังผลในทาน

(๑๙) บางคนให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น

เขาเห็นกษัตริย์ พราหมณ์ หรือคฤหบดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ เขามีความปรารถนาว่า เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายของกษัตริย์ พราหมณ์ หรือคฤหบดี

เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นจาตุมมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีมีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก เขาจึงมีความปรารถนาว่า เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

เขาตั้งจิตอธิษฐาน นึกภาวนาอยู่ จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น เมื่อตายไปเขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของ กษัตริย์ พราหมณ์ หรือคฤหบดี เทวดาชั้นจาตุมมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์

เขาได้สดับมาว่า เทวดาชั้นพรหม มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีสุขมาก เขาจึงมีความปรารถนาว่า เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม

เขาตั้งจิตอธิษฐาน นึกภาวนาอยู่ จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม

แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่า เป็นของผู้มีศีล มิใช่ของผู้ทุศีล ของผู้ปราศจากราคะ ไม่ใช่ของผู้มีราคะ

ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้เพราะจิตปราศจากราคะ


(๒๐) บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช เมื่อสิ้นกรรม ยังเป็นผู้กลับมา

บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ 

ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ เมื่อสิ้นกรรม ยังเป็นผู้กลับมา

ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา เมื่อสิ้นกรรม ยังเป็นผู้กลับมา

ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต เมื่อสิ้นกรรม ยังเป็นผู้กลับมา

ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี เมื่อสิ้นกรรม ยังเป็นผู้กลับมา

ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี เมื่อสิ้นกรรม ยังเป็นผู้กลับมา

ให้ทาน เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เมื่อสิ้นกรรม เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา
 

เหตุแห่งการให้ทาน

(๒๑) บางคนหวังได้จึงให้ทาน ๑
บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า ทานเป็นการดี ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้ไม่หุงหากินไม่สมควร ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานกิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑
บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑

(๒๒) ทานวัตถุ ๘ ประการ

บางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน ๑
บางคนให้ทานเพราะโกรธ ๑
บางคนให้ทานเพราะหลง ๑
บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่าบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียวงศ์ตระกูลดั้งเดิม ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิดตามลำดับ ๑
บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑


การกีดขวางการให้ทานผู้อื่น

(๒๓) คนเหล่าใดเป็นคนตระหนี่ ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางผู้ที่ให้อยู่ คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือในยมโลก ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน จะหาผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้ยาก คนเหล่านั้นประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น ย่อมไม่ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนา เป็นผลในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย 

ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้าอาหารความร่าเริงและความสนุกสนานโดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสมไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็นสุคติ

(๑๔) ผู้ใดพูดว่า พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่น ๆ พึงให้ทานแก่สาวกของเรานี่แหละ ไม่ควรให้แก่สาวกของคนอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่นหามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่นหามีผลไม่ ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่าไม่พูดตามที่เราพูด ทั้งกล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง

ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมกระทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง คือ

ย่อมทำอันตรายแก่บุญของทายก ๑
ย่อมทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหก ๑
ตนของบุคคลนั้น ย่อมเป็นอันถูกกำจัดและถูกทำลายก่อนทีเดียวแล ๑

ก็เราพูดเช่นนี้ว่าผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะ หรือน้ำล้างขันไป แม้ที่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำครำ หรือที่บ่อโสโครกข้างประตูบ้านด้วยตั้งใจว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นจงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้นเถิด

เรากล่าวกรรมซึ่งมีการลาดน้ำล้างภาชนะนั้นเป็นเหตุว่า เป็นที่มาแห่งบุญ จะป่วยกล่าวไปไยถึงในสัตว์มนุษย์

อีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่า ทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีลมีผลมาก ที่ให้ในคนทุศีล หาเหมือนเช่นนั้นไม่

ท่านผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๕ ละองค์ คือ

ละกามฉันทะ ๑
พยาบาท ๑
ถีนมิทธะ ๑
อุทธัจจกุกกุจจะ ๑
วิจิกิจฉา ๑

ประกอบด้วยศีลขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑

เรากล่าวว่าทานที่ให้ในท่านที่ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังกล่าวมา มีผลมาก

ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว มีวัตรเรียบร้อย ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล พูดแต่ คำสัตย์ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติ และมรณะได้ มีพรหมจรรย์บริบูรณ์ ปลงภาระลงแล้ว พ้นกิเลส ทำกิจเสร็จแล้ว หมดอาสวะ รู้จบธรรมทุกอย่าง ดับสนิทแล้วเพราะไม่ถือมั่น ในเขตที่ปราศจากธุลีนั้น ทักษิณาย่อมมีผลมาก

ส่วนคนพาล ไม่รู้แจ้ง ทรามปัญญา มิได้สดับตรับฟัง ย่อมพากันให้ทานในภายนอก ไม่เข้าไปหาสัตบุรุษ ก็ศรัทธาของผู้ที่เข้าไปหา

สัตบุรุษผู้มีปัญญา ยกย่องกันว่าเป็นปราชญ์ หยั่งรากลงตั้งมั่นในพระสุคต เขาเหล่านั้นย่อมพากันไปเทวโลก หรือมิฉะนั้นก็เกิดในสกุลในโลกนี้ บัณฑิตย่อมบรรลุนิพพานได้โดยลำดับ


(๒๔) เหตุที่ให้ทานไม่ได้ ๒ อย่าง

บุคคลให้ทานไม่ได้ด้วยเหตุ ๒ อย่างคือ ความตระหนี่ ๑ ความประมาท ๑

คนผู้ตระหนี่กลัวยากจน ย่อมไม่ให้อะไร ๆ แก่ผู้ใดเลย ความกลัวจนนั่นแหละจะเป็นภัยแก่คนผู้ไม่ให้

คนตระหนี่ย่อมกลัวความอยากข้าว อยากน้ำ ความกลัวนั้นแหละ จะกลับมาถูกต้องคนนั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดตระหนี่เสียแล้ว พึงให้ทาน เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

ผู้ให้ทานได้ยากเพราะต้องครอบงำความตระหนี่ก่อน แล้วจึงให้ได้

อสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่ทำทานตามที่สัตบุรุษทำแล้ว เพราะเหตุนั้น คติจากโลกนี้ของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษจึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปนรก สัตบุรุษย่อมไปสวรรค์

บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการบุญ พึงให้ทาน

บัณฑิตพวกหนึ่งย่อมให้ไทยธรรมแม้มีเล็กน้อยได้ สัตว์พวกหนึ่งแม้มีไทยธรรมมากก็ให้ไม่ได้

ทักขิณาทานที่บุคคลให้จากของเล็กน้อยก็นับว่าเสมอด้วยการให้จำนวนพัน


การฆ่าเพื่อบูชายัญมีค่าไม่เท่าค่าแห่งผลทานของบุคคลที่ให้โดยชอบธรรม

บุคคลผู้เลี้ยงบุตรและภรรยาของตน เมื่อไทยธรรมมีน้อยก็เฉลี่ยให้แก่สมณะและพราหมณ์ บุคคลนั้นชื่อว่า ประพฤติธรรม

ยัญที่คนตั้งแสนฆ่าสัตว์มาบูชาแก่คนผู้ควรบูชาจำนวนพัน ยัญของคนเช่นนั้น ไม่ถึงแม้เสี้ยวแห่งผลทานของคนเข็ญใจผู้ยังไทยธรรมให้เกิดโดยชอบให้อยู่

เพราะเหตุไร ยัญนี้ก็ไพบูลย์ มีค่ามาก จึงไม่เท่าค่าแห่งผลทานของบุคคลที่ให้โดยชอบธรรม

ไฉนยัญที่คนตั้งแสนฆ่าสัตว์มาบูชา คนที่ควรบูชาจำนวนพัน ๆ จึงไม่เท่าแม้ส่วนเสี้ยวแห่งผลทาน ของคนเข็ญใจผู้ยังไทยธรรม ให้เกิดโดยชอบให้อยู่

เพราะว่า คนบางพวกตั้งอยู่ในกายกรรมเป็นต้น อันไม่เสมอกัน ทำสัตว์ให้ลำบากบ้าง ฆ่าให้ตายบ้าง ทำให้เศร้าโศกบ้าง แล้วจึงให้ทาน

ทักขิณาทานนั้น มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา พร้อมทั้งอาชญา จึงไม่เท่าถึงส่วนเสี้ยวแห่งผลทานที่บุคคลให้แล้วโดยชอบธรรม

เพราะอย่างนี้ ยัญที่คนตั้งแสนฆ่าสัตว์มาบูชายัญแก่คนที่ควรบูชาจำนวนพัน ๆ จึงไม่เท่าถึงส่วนเสี้ยวแห่งผลทาน ของคนเข็ญใจผู้ยังไทยธรรมให้เกิดโดยชอบให้อยู่
 

การถวายวิหารทาน

(๒๕) ราชคหเศรษฐีต้องการบุญ ต้องการสวรรค์ ได้ให้สร้างวิหาร ๖๐ หลัง จะพึงปฏิบัติอย่างไรในวิหารเหล่านั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงถวายวิหารเหล่านั้นแก่สงฆ์จาตุรทิศ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา

ทรงอนุโมทนาแก่ราชคหเศรษฐีด้วยคาถาเหล่านี้

คาถาอนุโมทนาวิหารทาน

วิหารย่อมป้องกันหนาว ร้อน และเนื้อร้าย ป้องกันงูและยุง ฝนในสิสิรฤดู ป้องกันลมและแดดอันกล้าที่เกิดขึ้นได้ การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณา และเพื่อเห็นแจ้ง พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุนั้น คนผู้ฉลาด เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ให้ภิกษุทั้งหลายผู้พหูสูต อยู่ในวิหารนี้เถิด

อนึ่ง พึงมีใจเลื่อมใสถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะ อันเหมาะสมแก่พวกเธอ ในพวกเธอผู้ซื่อตรง เพราะพวกเธอย่อมแสดงธรรมอันเป็นเครื่องบรรเทาสรรพทุกข์แก่เขา เขารู้ทั่วถึงแล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพานในโลกนี้


ธรรมทาน

(๒๖) ทาน ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑

บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ

การแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การแจกจ่ายธรรม ๑

บรรดาการแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ การแจกจ่ายธรรมเป็นเลิศ

การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส ๑ การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ๑

บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ

(๒๗) ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย การแสดงธรรมบ่อย ๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก

การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา
ชักชวนผู้ทุศีลให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศีลสัมปทา
ชักชวนผู้ตระหนี่ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา
ชักชวนผู้มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา
นี้เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย

(๑๓) การให้ธรรมเป็นทานย่อมชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง


ตั้งจิตให้ทานเพื่อนิพพาน

(๒๘) บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ให้ทานเพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไปโดยส่วนเดียว


ตัวอย่างผลกรรมแห่งการตั้งจิตหลังการให้ทาน

(๒๙)  พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีในพระนครสาวัตถีผู้หนึ่งเสียชีวิต หม่อมฉันให้ขนทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกนั้นมาไว้ในพระราชวัง เฉพาะเงินเท่านั้นมี ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ส่วนเครื่องรูปิยะไม่ต้องพูดถึง ก็คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้บริโภคอาหารเห็นปานนี้ คือ บริโภคปลายข้าวกับน้ำส้มพอูม ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเห็นปานนี้ คือนุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัด เป็นสามชิ้นเย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะเห็นปานนี้ คือใช้รถเก่า ๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เรื่องเคยมีมาแล้ว คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นได้สั่งให้จัดบิณฑบาตถวายพระปัจเจกสัมพุทธะ นามว่า ตครสิขี ว่าท่านทั้งหลาย จงถวายบิณฑะแก่สมณะแล้วลุกจากอาสนะเดินหลีกไป แต่ครั้นถวายแล้ว ภายหลังได้มีวิปฏิสารว่า บิณฑบาตนี้ ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า นอกจากนี้ เขายังปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย เพราะเหตุทรัพย์สมบัติอีก

การที่คฤหบดีนั้นสั่งให้จัดบิณฑบาต ถวายพระตครสิขีปัจเจกสัมพุทธะ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ ๗ ครั้ง ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้น ได้ครองความเป็นเศรษฐีในพระนครสาวัตถีนี้แหละถึง ๗ ครั้ง

การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถวายแล้วภายหลังได้มีวิปฏิสารว่า บิณฑบาตนี้ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า ด้วยวิบากของกรรมนั้น จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอันโอฬาร ไม่น้อมไปเพื่อใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มอันโอฬาร ไม่น้อมไปเพื่อใช้ยานพาหนะอันโอฬาร ไม่น้อมไปเพื่อบริโภคเบญจกามคุณอันโอฬาร

การที่คฤหบดีนั้นปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชายเพราะเหตุทรัพย์สมบัติ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงถูกไฟเผาอยู่ในนรกหลายพันปี หลายแสนปี ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกของเขานี้ จึงถูกขนเข้าพระคลังหลวงเป็นครั้งที่ ๗

บุญเก่าของคฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นหมดสิ้นแล้ว และบุญใหม่ก็ไม่ได้สะสมไว้ ในวันนี้ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐี ถูกไฟเผาอยู่ในมหาโรรุวนรก

 

 



 

อ้างอิง: 
(๑)  สัปปุริสสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๒๗ หน้า ๑๘๙
(๒)  สัปปุริสทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๔๘ หน้า ๑๕๕-๑๕๖
(๓) โภชนทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๒ ข้อที่ ๓๗ หน้า ๓๖-๓๗
(๔) กินททสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๑๓๘
(๕) อิสสัตถสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๔๐๕-๔๑๐ หน้า ๑๒๑-๑๒๓
(๖) ทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๐๘
(๗) ทานสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๒๒ หน้า ๑๘๓
(๘) ทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๐๔
(๙)  กาลทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๒๒ ข้อที่ ๓๖ หน้า ๓๖
(๑๐)  ทานานิสังสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๒๒ ข้อที่ ๓๕ หน้า ๓๕-๓๖
(๑๑)  สีหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๔ หน้า ๓๔-๓๕
(๑๒)  ทักขิณาวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๔ ข้อที่ ๗๐๙-๗๑๙ หน้า ๓๔๓-๓๔๖
(๑๓) คาถาธรรมบท ตัณหาวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕ ข้อที่ ๓๔ หน้า ๔๓-๔๔
(๑๔) ชัปปสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๙๗ หน้า ๑๕๕-๑๕๗
(๑๕) มนาปทายีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๔ หน้า ๕๑
(๑๖)  เวลามสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๒๔ หน้า ๓๑๕-๓๑๗
(๑๗) สุมนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๒๒ ข้อที่ ๓๑ หน้า ๒๙-๓๐
(๑๘)  อรรถกถา คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙ พิฬาลปทกะเศรษฐี
(๑๙) ทานูปปัตติสูตร  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๒๕ หน้าที่  ๒๑๔ - ๒๑๕
(๒๐)  ทานสูตร  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๒๓ ข้อที่ ๔๙ หน้า ๕๔-๕๗
(๒๑) ทานสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๒๑ หน้า ๑๘๓
(๒๒) ทานวัตถุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๒๓ หน้า ๑๘๓-๑๘๔
(๒๓) มัจฉริสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๑๔๙ หน้าที่ ๔๔
(๒๔) พิลารโกสิยชาดก พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๙ ข้อที่ ๑๔๔๓-๑๔๕๒ หน้า ๒๖๗-๒๖๘
(๒๕) เสนาสนะขันธกะ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๗ ข้อที่ ๒๐๒-๒๐๓ หน้า ๕๕-๕๖
(๒๖) ทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๗๘
(๒๗) พลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที ๒๐๙ หน้าที่ ๒๙๓
(๒๘) ทำบุญต้องมุ่งนิพพาน พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๒๙ ข้อที่ ๘๒๕ หน้า ๔๐๔
(๒๙) ทุติยาปุตตกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๓๙๐-๓๙๑ หน้า ๑๑๔-๑๑๕
 

 

 
 
 
 
 
 
 

คำต่อไป