กลิ่นชั้นสูง
วันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระออกจากนิโรธสมาบัติ คิดว่าจักเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกในกรุงราชคฤห์
ในสมัยนั้น นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เป็นบริจาริกาของท้าวสักกะ เกิดความอุตสาหะว่าจักถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปะ จึงตระเตรียมบิณฑบาต ๕๐๐ ที่ แล้วถือมายืนอยู่ในระหว่างทาง เห็นพระเถระเดินมา ได้นิมนต์พระเถระรับบิณฑบาต เพื่อสงเคราะห์แก่พวกนาง พระเถระได้ขอให้พวกนางไปเสีย ท่านจักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจ
นางอัปสรทั้งหลายไม่ปรารถนาจะหลีกไป ยังอ้อนวอนอยู่ พระเถระจึงห้ามเสียด้วยการดีดนิ้ว แล้วกล่าวว่านางอัปสรไม่รู้จักประมาณตัว ให้หลีกไป
นางอัปสรเหล่านั้นจึงหนีไปยังเทวโลกตามเดิม ท้าวสักกะได้ตรัสถามนางอัปสรเหล่านั้นว่าไปไหนมา เมื่อทราบว่าพระมหากัสสปเถระจักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจด้วยบิณฑบาต จึงตรัสว่าหญิงเช่นนางอัปสรจักถวายบิณฑบาตแก่พระเถระได้อย่างไร
ท้าวสักกะประสงค์จะถวายบิณฑบาตด้วยพระองค์เอง จึงแปลงเป็นคนแก่ มีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง เป็นช่างหูกผู้เฒ่า ทรงทำนางสุชาดา ให้เป็นหญิงแก่ แล้วทรงนิรมิตถนนช่างหูกขึ้นสายหนึ่ง ประทับขึงหูกอยู่
ฝ่ายพระเถระเดินบ่ายหน้าเข้าเมือง เห็นถนนสายนั้นแล้ว แลดูอยู่ ก็ได้เห็นคน ๒ คน ท้าวสักกะกำลังขึงหูก นางสุชาดากรอหลอด พระเถระคิดว่าสองคนนี้แม้ในเวลาแก่ก็ยังทำงาน ในเมืองนี้ผู้ที่จะเข็ญใจกว่าสองคนนี้เห็นจะไม่มี จักทำความสงเคราะห์แก่สองคนนี้
ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระมหากัสสปเถระมาอยู่ จึงตรัสกะนางสุชาดาให้นั่งทำเป็นเหมือนไม่เห็น ลวงอยู่สักครู่ แล้วจึงถวายบิณฑบาต
พระมหากัสสปเถระได้มายืนอยู่ที่ประตูเรือน สองผัวเมียก็ทำเป็นเหมือนไม่เห็น ทำแต่การงานของตน คอยอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วตรัสกับนางสุชาดาว่า ที่ประตูเรือนเหมือนมีพระเถระยืนอยู่รูปหนึ่ง
ท้าวสักกะได้เสด็จออกมา ทรงไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วตรัสว่า มีอะไรอยู่ในเรือนบ้างไหม นาน ๆ พระมหากัสสปเถระจึงจะมายังประตูกระท่อม
นางสุชาดาทำเป็นกุลีกุจออยู่หน่อยหนึ่ง แล้วตอบว่า มี
ท้าวสักกะตรัสกะพระมหากัสสปเถระว่าอย่าคิดเลยว่าทานเศร้าหมอง หรือประณีต โปรดทำความสงเคราะห์แก่ตนทั้งสองด้วย
พระมหากัสสปเถระคิดว่าทานที่สองผัวเมียถวายจะเป็นน้ำผักดองหรือรำกำมือหนึ่งก็ตามที ท่านจักทำความสงเคราะห์แก่สองผัวเมียนั้น แล้วจึงให้บาตรไป
ท้าวสักกะทรงคดข้าวสุกออกจากหม้อ ใส่เต็มบาตรแล้ว มอบถวายในมือพระเถระ บิณฑบาตนั้นได้มีสูปพยัญชนะมากมาย ได้หอมตลบทั่วกรุงราชคฤห์
ในเวลานั้น พระมหากัสสปเถระคิดว่าชายนี้มีศักดิ์น้อย บิณฑบาตมีศักดิ์มาก เช่นกับโภชนะของท้าวสักกะ
ครั้นทราบว่าชายนั้นเป็นท้าวสักกะ จึงกล่าวว่าท้าวสักกะทรงแย่งสมบัติของคนเข็ญใจ จัดว่าทำกรรมหนักแล้ว ใคร ๆ ก็ตามที่เป็นคนเข็ญใจ ถวายทานในวันนี้ พึงได้ตำแหน่งเสนาบดีหรือตำแหน่งเศรษฐี
ท้าวสักกะตรัสว่าผู้ที่เข็ญใจไปกว่าท่าน ไม่มีเลย เมื่อพุทธุปบาทกาลยังเป็นไปอยู่ เทพบุตรผู้มีศักดิ์เสมอกัน ๓ องค์ คือ จูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร อเนกวัณณเทพบุตรทำกัลยาณกรรมแล้ว ได้เกิดในที่ใกล้ท้าวสักกะ มีเดชมากกว่า
เมื่อเทพบุตรทั้งสามนั้นพาพวกบริจาริกาลงสู่ระหว่างถนน ด้วยคิดว่าจักเล่นนักขัตฤกษ์ พระองค์ต้องหนีเข้าตำหนัก เพราะเดชจากสรีระของเทพบุตรทั้งสามนั้นท่วมทับสรีระของท่าน เดชจากสรีระของท้าวสักกะไม่ท่วมทับสรีระของเทพบุตรทั้งสามนั้น
พระมหากัสสปเถระกล่าวว่าแม้เป็นอย่างนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป อย่าได้ลวงถวายทานแก่ท่านอย่างนี้
ท้าวสักกะตรัสถามว่าการลวงถวายทานอย่างนี้ กุศลจะมีหรือไม่ พระเถระตอบว่า มี
ท้าวสักกะจึงตรัสว่าเมื่อเป็นอย่างนั้น การทำกุศลกรรมก็จัดเป็นหน้าที่ของท้าวสักกะ แล้วเหาะขึ้นเวหาสไป ทรงเปล่งอุทานว่า ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม ท้าวสักกะได้ตั้งไว้ดีแล้วในท่านพระกัสสปะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า
เทวดาและมนุษย์ย่อมพอใจแก่ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตัวเอง มิใช่เลี้ยงผู้อื่น ผู้มั่นคง ผู้เข้าไปสงบแล้ว มีสติทุกเมื่อ
แล้วตรัสว่าท้าวสักกะได้เสด็จมาถวายบิณฑบาตแก่บุตรของพระผู้มีพระภาคเพราะกลิ่นศีล
แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า
กลิ่นนี้คือ กลิ่นกฤษณาและกลิ่นจันทน์ เป็นกลิ่นเพียงเล็กน้อย
ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลาย เป็นกลิ่นชั้นสูง ย่อมหอมฟุ้งไป ในเทพเจ้าและเหล่ามนุษย์
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น เทศนาเกิดประโยชน์แก่มหาชนแล้ว
อ่าน คาถาธรรมบท ปุปผวรรค
อ่านอรรถกถาเรื่อง ถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ
พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระสงฆ์
อานนทธรรม
พระสงฆ์
ธรรมอันลึกซึ้ง
พระสงฆ์
ฤทธิธรรม
พระสงฆ์
ธรรมปัญญา
พระสงฆ์
มหาบุรุษ - มหาสตรี
พระสงฆ์
มหาเถรธรรม
พระสงฆ์
อารยธรรมบท