Main navigation

ความเป็นสหายไม่มีในคนพาล

ว่าด้วย
สัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ
เหตุการณ์
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ

สัทธิวิหาริก ๒ รูป อุปัฏฐากพระมหากัสสปเถระ ผู้อาศัยกรุงราชคฤห์ อยู่ในถ้ำปิปผลิ ภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งกระทำวัตรโดยเคารพ อีกรูปหนึ่งไม่ได้กระทำวัตร แต่ทำเหมือนว่าตนเองกระทำ เรียนพระเถระว่าตนได้ทำวัตรนั้น ๆ

เมื่อพระมหากัสสปะเถระทราบความ จึงได้ให้โอวาทแก่ภิกษุนั้นว่า ชื่อว่าภิกษุ กล่าวกิจที่ตนกระทำแล้วว่า กระทำแล้ว ย่อมควร จะกล่าวกิจที่ตนมิได้กระทำว่าเป็นกิจที่ตนกระทำ ย่อมไม่ควร

ภิกษุนั้นโกรธ ในวันรุ่งขึ้น จึงไม่ไปบิณฑบาตกับพระเถระ เมื่อพระเถระไปแล้ว ภิกษุนั้นไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากของพระเถระ เมื่ออุปัฏฐากนั้นถามถึงพระเถระ ภิกษุนั้นบอกว่าพระเถระป่วย อยู่ในวิหาร พวกอุปัฏฐากจึงได้ถามถึงอาหารที่ควรถวาย อุปัฏฐากทั้งหลายได้จัดแจงอาหารตามที่ภิกษุนั้นบอก แล้วถวายผ่านภิกษุรูปนั้นไปเพื่อพระเถระ ภิกษุนั้นได้ฉันอาหารนั้นในระหว่างทาง แล้วกลับสู่วิหาร

ฝ่ายพระมหากัสสปะเถระได้ผ้าเนื้อละเอียดผืนใหญ่ในที่ที่ไป ได้ให้แก่ภิกษุหนุ่มรูปแรก ภิกษุหนุ่มย้อมผ้านั้น ทำให้เป็นผ้าสำหรับนุ่งห่มของตน

วันรุ่งขึ้น พระมหากัสสปะเถระไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากนั้น พวกอุปัฏฐากได้ถามพระเถระว่า หายป่วยเพราะฉันอาหารที่พวกตนได้จัดแจงส่งไปหรือ พระเถระก็นิ่งเสีย แล้วกลับสู่วิหาร

ในเวลาเย็นพระเถระได้กล่าวกะภิกษุหนุ่มรูปที่สองนั้นว่า วานนี้ ภิกษุนั้นกระทำกรรมไม่สมควรแก่บรรพชิตทั้งหลาย บรรพชิตกระทำวิญญัติ แล้วฉัน ย่อมไม่สมควร

ภิกษุรูปที่สองนั้นโกรธ ผูกอาฆาตในพระเถระ และคิดว่าแม้ผ้า พระมหากัสสปะเถระก็ให้แก่ภิกษุผู้บำรุงตนเท่านั้น

ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเถระเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ภิกษุรูปที่สองนั้นใช้ท่อนไม้ทุบวัตถุทั้งหลาย มีภาชนะใช้สอย เป็นต้น แล้วจุดไฟเผาบรรณศาลาของพระเถระ สิ่งใดไฟไม่ไหม้ ก็เอาพลองทุบทำลายสิ่งนั้น แล้วหนีไป ภิกษุนั้นเสียชีวิต แล้วเกิดในอเวจีมหานรก

ต่อมาภายหลัง ภิกษุรูปแรกออกจากกรุงราชคฤห์ ใคร่จะเฝ้าพระศาสดา จึงไปยังพระเชตวัน

เมื่อพระผู้มีพระภาคทราบว่าภิกษุนั้นมาจากกรุงราชคฤห์ จึงได้ตรัสถามถึงพระมหากัสสปะเถระ ภิกษุนั้นจึงได้กราบทูลเรื่องที่
ภิกษุรูปนั้นเผาบรรณศาลาพระมหากัสสปะเถระแล้วหนีไป

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภิกษุนั้นโกรธและประทุษร้ายพระมหากัสสปะเถระ แม้ในอดีตก็เคยโกรธและประทุษร้ายพระเถระ แล้วทราบนำอดีตนิทานมาเล่าว่า

นกขมิ้นกับลิงวิวาทกัน

ในกรุงพาราณสี นกขมิ้นตัวหนึ่งทำรังอยู่ในหิมวันตประเทศ วันหนึ่ง เมื่อฝนกำลังตก ลิงตัวหนึ่งสะท้านอยู่เพราะความหนาวได้ไปยังที่นั้น นกขมิ้นเห็นลิงนั้นจึงกล่าวกับลิงว่า ศีรษะและมือเท้าของท่านก็มีเหมือนของมนุษย์ เพราะโทษอะไร จึงไม่มีบ้าน
ลิงนั้นคิดว่า มือและเท้าของเรามีอยู่ก็จริง ถึงกระนั้น ปัญญาในการสร้างบ้านของเรา ไม่มี

ลิงใคร่ครวญแล้ว กล่าวกับนกขมิ้นว่าศีรษะและมือเท้าของตน มีเหมือนของมนุษย์ ปัญญาใดประเสริฐในมนุษย์ทั้งหลาย ปัญญานั้น ไม่มีแม้แก่ตน

นกขมิ้นได้ติเตียนลิงนั้นว่าการอยู่ครองเรือนจักสำเร็จแก่ลิงได้อย่างไร สุขภาพ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคง มีจิตกลับกลอก มักประทุษร้ายมิตร มีปกติไม่ยั่งยืนเป็นนิตย์ ลิงนั้นจงกระทำอานุภาพเถิด จงเป็นไปล่วงความเป็นปกติของตนเสีย จงกระทำบ้านเป็นที่ป้องกันหนาวและลมเถิด

ลิงนั้นคิดว่านกขมิ้นตัวนี้ทำตนให้เป็นผู้มีจิตไม่มั่นคง มีจิตกลับกลอก มักประทุษร้ายมิตร มีปกติไม่ยั่งยืน ตนจักแสดงความมักเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรต่อนกขมิ้น ลิงจึงได้ทำลายรังของนกขมิ้นนั้น นกขมิ้นนั้นหนีออกไปได้

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประมวลชาดกว่า

ลิงในกาลนั้น ได้เป็นภิกษุผู้ประทุษร้ายกุฎีในบัดนี้ นกขมิ้นคือกัสสปะ

แล้วตรัสว่าการอยู่ของพระมหากัสสปะเถระคนเดียว ดีกว่าการอยู่ร่วมกับคนพาลเห็นปานนั้น

แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า

ถ้าบุคคลเมื่อเที่ยวไป ไม่พึงประสบสหายผู้ประเสริฐกว่า ผู้เช่นกับด้วยคุณของตนไซร้ พึงทำการเที่ยวไปคนเดียวให้มั่น เพราะว่า คุณเครื่องเป็นสหาย ย่อมไม่มีในเพราะคนพาล

ในกาลจบเทศนา อาคันตุกภิกษุบรรลุโสดาปัตติผล แม้ชนเหล่าอื่นเป็นอันมากก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น เทศนาได้เป็นไปกับด้วยประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล

 

 

อ่าน คาถาธรรมบท พาลวรรค
อ่าน สัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ

อ้างอิง
คาถาธรรมบท พาลวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๕ หน้า ๑๖-๑๗ และอรรถกถาเรื่อง สัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๑๗๔ - ๑๘๑
ลำดับที่
8

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ